ผอ.รพ.แม่ระมาด เผย “ผลการบำบัดยาเมทาโดนในกลุ่มผู้เสพฝิ่นในพื้นที่” 3 ปี ดึงผู้เสพฝิ่นเข้ารับการบำบัดแล้ว 400 ราย หลังปรับแนวปฏิบัติตามบริบทพื้นที่ เพิ่มจุดจ่ายยาที่ รพ.สต. จัดรถโมบายยูนิต เตรียมเสนอโครงการ สสส.ของบหนุน ทำงานเชิงรุกร่วมกับชุมชน ดึงผู้เสพฝิ่นในพื้นที่กว่าครึ่งรับการบำบัดเพิ่ม ห่วงข้อเสนอยุบงบกองทุนเฉพาะโรค รวมเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว กระทบงบยาเมทาโดนและบริการทางการแพทย์บำบัดผู้เสพ ทำ รพ.รับภาระเพิ่ม
นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์
นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก กล่าวถึงการบำบัดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวในผู้เสพฝิ่นในพื้นที่ อ.แม่ระมาดว่า ยาเมทาโดนเป็นที่รู้จักมานานแล้ว เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดระยะยาวให้กับผู้ติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีน ในพื้นที่ อ.แม่ระมาด มีผู้ติดฝิ่นจำนวนมาก ประกอบกับมีโครงการหลวงฯ ที่เข้ามาเพื่อลดการปลูกฝิ่น จึงได้มีแนวทางบำบัดผู้เสพฝิ่นในพื้นที่ โดยมีคณะทำงานที่มีทีมจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์) ร่วมด้วย และมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำวิธีการรักษาด้วยการให้ยาเมทาโดนระยะยาวมาใช้บำบัดผู้เสพฝิ่นในพื้นที่นี้ได้ จึงได้ประสานมายัง รพ.แม่ระมาด และได้เริ่มดำเนินการการบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวให้กับผู้เสพฝิ่นในพื้นที่ในปี 2556 เป็นต้นมา
นพ.จิรพงศ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการใช้วิธีการบำบัดผู้เสพยาเสพติดด้วยการให้ยาเมทาโดนระยะยาวนั้น ในการบำบัดผู้เสพแต่เดิมจะวิธีการถอนพิษยาโดยนำผู้เสพมาเข้าค่าย 2-3 สัปดาห์และให้ยาต่อเนื่อง แต่วิธีดังกล่าวไม่ได้ผล ซึ่งหลังรับการบำบัด 6 เดือน ผู้เสพจะกลับไปเสพยาซ้ำ ดังนั้นการบำบัดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวเพื่อทดแทนจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่เนื่องจากการให้ยาเมทาโดนอาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะหากใช้เกินขนาด จึงต้องมีการควบคุม ที่ผ่านมาในการบำบัดจึงต้องให้ผู้ป่วยกินยาต่อหน้า หรือเดินทางมารับยาเมทาโดนที่โรงพยาบาลทุกวัน แต่วิธีดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้ารับการบำบัดในพื้นที่นี้ เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาสูง ซึ่งผู้เสพที่รับการบำบัดอาจต้องใช้เวลาเดินทาง 3-6 ชั่วโมงต่อวัน
จากปัญหาข้างต้นนี้ จึงได้ร่วมกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ วางแนวทางการบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นี้ เพื่อให้ได้ผลและปลอดภัย ซึ่งนอกจากการให้ความรู้เจ้าหน้าที่และผู้เสพฝิ่นเพื่อให้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจแล้ว ยังให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งเป็นหน่วยบริการจ่ายยาเมทาโดนให้กับผู้ป่วย การจัดบริการรถโมบายยูนิตเพื่อให้บริการยาเมทาโดนในบางพื้นที่ซึ่งเข้าถึงยาก รวมถึงการสั่งจ่ายยาเมทาโดนให้กับผู้เสพกลับไปกินต่อเนื่องที่ผ่าน เน้นเฉพาะบางรายที่เข้ารับการบำบัดต่อเนื่องและทางโรงพยาบาลมีความมั่นใจแล้ว โดยแนวทางปฏิบัตินี้นอกจากเป็นการเพิ่มความสะดวกในการรับยาเมทาโดนแล้ว ยังทำให้ผู้เสพยังคงอยู่ในระบบเพื่อรับการบำบัดระยะยาว
“การรับยาเมทาโดนที่ รพ.สต. ยังคงเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพียงแต่ในการรับยานั้น ผู้รับการบำบัดไม่ต้องเดินทางมารับยาถึงโรงพยาบาลเอง แต่สามารถรับยาที่ รพ.สต.ซึ่งอยู่ใกล้บ้านได้ ส่วนการให้ยาเมทาโดนเพื่อให้ผู้รับการบำบัดนำกลับบ้านได้นั้น ช่วงแรกของการบำบัด แพทย์จะสั่งจ่ายยาบำบัดวันต่อวันก่อน ซึ่งผู้เสพต้องมากินยาเมทาโดนที่โรงพยาบาล และเมื่อประเมินผลทั้งในด้านปริมาณยาที่เหมาะสม พฤติกรรมผู้รับบำบัดในการกินยา อาจขยับเป็นการสั่งจ่ายยาให้ 3 วัน ต่อมาอาจเพิ่มเป็น 5 วัน แต่ทั้งนี้จะไม่เกิน 1 สัปดาห์”
ผลจากการดำเนินการนี้ นพ.จิรพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผ่านเข้ารับการรักษาบำบัดด้วยการให้ยาเมทาโดนระยะยาว 400 คน จากการประมาณการณ์จำนวนผู้ติดฝิ่นทั้งหมด 700-800 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิธีเดิมที่ใช้วิธีถอนพิษยา จะมีผู้เข้ารับการบำบัดเพียงแค่ 50-100 คน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีผู้เสพฝิ่นในพื้นที่เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น แต่อัตราการรับการบำบัดคงอยู่ในระบบยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ โดยผู้เสพที่รับการบำบัดต่อเนื่อง 1 ปีแรก อยู่ที่ร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นกลุ่มผู้เสพไม่มารับการบำบัดต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งผู้เสพที่วนกลับเข้ามาขอรับการบำบัดต่อเนื่องใหม่ อย่างไรก็ตามจากแนวทางการบำบัดนี้ ภาพรวมช่วยให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดและคงอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น
“ผลที่ได้นอกจากเป็นการช่วยผู้เสพฝิ่นให้ได้รับการบำบัดแล้ว ในแง่สาธารณสุขยังช่วยลดอัตราการแพร่กระจายโรคต่างๆ ที่เป็นปัญหา ซึ่งเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของผู้เสพ เนื่องจากผู้ติดฝิ่นในพื้นที่นี้จะใช้วิธีการเสพฝิ่นด้วยการฉีด จึงเกิดความเสี่ยงในการรับและแพร่กระจายโรคต่างๆ อาทิ เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซีซึ่งพบมากในกลุ่มผู้เสพพื้นที่นี้”
นพ.จิรพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูจำนวนผู้เสพผิ่นในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้เสพจำนวนมากที่ยังไม่เข้ามารับการบำบัด จำเป็นต้องมีการขยายและทำงานเชิงรุกเพื่อให้ผู้เสพฝิ่นเหล่านี้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราดำเนินการเฉพาะตำบลพื้นที่โครงการหลวง แต่ควรมีการขยายไปยังพื้นที่ข้างเคียง อย่างตำบลสามหมื่น ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำโครงการเชิงรุกเพื่อขยายการวิธีการบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวไปยังตำบลดังกล่าวแล้ว โดยของบประมาณสนับสนุนการจัดการเชิงรุกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อดึงผู้เสพฝิ่นให้เข้ารับการบำบัดเพิ่มเติม ทั้งการให้ความรู้ การติดตามประเมินผล และการทำให้สังคมยอมรับผู้เสพที่เข้ารับการบำบัด พร้อมทั้งการเพิ่มจุดบริการจ่ายยาเมทาโดนไปยัง รพ.สต.ในพื้นที่
“โครงการที่นำเสนอต่อ สสส. เป็นการของบสนับสนุนการทำงานเชิงรุก เพื่อทำให้ผู้เสพฝิ่นประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ารับการบำบัดเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินงาน ส่วนค่ายาเมทาโดนและการบริการทางการแพทย์นั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลแม่ระมาดมีการเบิกจ่ายยาเมทาโดนแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าบริการทางการแพทย์ในการบำบัดผู้เสพ” ผอ.โรงพยาบาลแม่ระมาด กล่าว
นอกจากนี้ นพ.จิรพงศ์ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอการยุบรวมกองทุนเฉพาะโรค โดยให้คงแต่เฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวที่ส่งตรงไปยังโรงพยาบาล ว่า ส่วนตัวรู้สึกกังวลต่อข้อเสนอนี้ เนื่องจากการเบิกจ่ายยาเมทาโดนและบริการทางการแพทย์ในการบำบัดผู้เสพฝิ่นในพื้นที่ เป็นงบที่ สปสช.ได้จัดสรรเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่เป็นงบประมาณปกติ แต่หากยุบรวมทั้งหมด มองว่าอาจทำให้โรงพยาบาลได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่ากับโรงพยาบาลที่ไม่มีปัญหาผู้เสพฝิ่นที่ต้องรับการบำบัด ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองและอาจกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยพื้นที่โดยรวม จึงขอให้พิจารณาในประเด็นนี้
- 116 views