กรมอนามัย จัดการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 4 สุขภาพช่องปากดี มีสุขภาพเยี่ยมทุกช่วงวัย ยกระดับความสามารถทันตบุคลากรในการผลิตองค์ความรู้ และดำเนินงานบนฐานความรู้เพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัย
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ศาสตราจารย์พิเศษ ท่านผู้หญิง ทันตแพทย์หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 4 สุขภาพช่องปากดี มีสุขภาพเยี่ยมทุกช่วงวัย ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในปี 2559 มีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคนหรือร้อยละ 16 ของประชากรไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาสุขภาพช่องปากจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ
สภาวะที่พบในช่องปากผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กและได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งแม้แนวโน้มการสูญเสียฟันทั้งปากดีขึ้น มีความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 5 เหลือประมาณร้อยละ 3 มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากจำนวน 236,000 ราย แต่ในผู้สูงอายุที่มีฟันยังคงพบปัญหาโรคฟันผุ ปริทันต์อักเสบที่นำไปสู่การสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัญหาแผลและมะเร็งช่องปาก ปัญหาน้ำลายแห้ง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบในผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางร่างกาย ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
การจัดทำแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุให้เข้าถึงบริการ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ตลอดจนผลิตนวัตกรรม และพัฒนาบุคลากรให้สามารถดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ
ด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขมีเป้าหมายใน 20 ปีข้างหน้า ให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี ซึ่งสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มวัย แต่สถานการณ์สุขภาพช่องปากปัจจุบัน วัยเด็กและวัยทำงานก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 51.7 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 78.5 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี และ 15 ปี พบว่า ร้อยละ 52.3 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ ส่วนกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 - 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือกมีเลือดออกง่ายร้อยละ 39.3 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 35.2 ซึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันนั้นทันตบุคลากรมีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด สุขภาพช่องปากดี มีสุขภาพเยี่ยมทุกช่วงวัย เพื่อเป็นเวทีให้ทันตบุคลากรนำเสนอองค์ความรู้เชิงรูปแบบและนวัตกรรมการดำเนินงาน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพื่อติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพและการทำงานในพื้นที่ เป็นการยกระดับความสามารถด้านวิชาการในการผลิตองค์ความรู้ และดำเนินงานบนฐานความรู้เพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อให้ฟันแท้คงอยู่จนถึงวัยสูงอายุ
“ทั้งนี้ การประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ทันตบุคลากรและนักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับและกรมอนามัย ประมาณ 300 คน โดยภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการจากทันตบุคลากรและนักวิชาการ แบ่งเป็นการนำเสนอโดยวาจา 12 เรื่อง” ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าว
- 165 views