คนร่วมสมัยกับผม เกิดมาก็เห็นในหลวงแล้ว จากภาพถ่าย ในปฏิทิน ได้ยินทางวิทยุ เมื่อเกิดทีวีขาวดำในยุคแรก ก็เห็นพระองค์ท่านทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารแทบทุกวัน ผ่านข่าวในพระราชสำนัก ในช่วงที่เป็นนักเรียนทันตแพทย์ อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า นอกจากพระเมตตาในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์แล้ว ยังสนพระราชหฤทัยในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านทันตกรรม อันปรากฏในคำประกาศราชสดุดี ในหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมป์ ตอนหนึ่งว่า
ขอบคุณภาพจากกรมอนามัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงอุทิศพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขโดยเฉพาะงานด้านทันตสาธารณสุขไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระราชกรณียกิจอื่นใด ด้วยทรงเห็นว่าสุขภาพช่องปากเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพร่างกายโดยรวมที่ดี และทรงห่วงใยสุขภาพช่องปากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ริเริ่มงานทันตกรรมชุมชน จัดตั้งหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยพระราชทานรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่ ๑ คัน พร้อมเครื่องมือเวชภัณฑ์ที่จำเป็น จัดให้มีทันตแพทย์อาสาสมัครจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกให้บริการทันตกรรมในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เป็นประจำ เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้ที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสได้รับการรักษาทางทันตกรรมอย่างยิ่ง และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์นี้ว่า “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” ทรงใส่พระราชหฤทัย วางแผน ติดตามผลการดำเนินงานด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชดำริ ข้อแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมพระราชทานขายการดำเนินงานไปยังสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นหน่วยในภูมิภาคอีก ๖ แห่ง
นอกจากนั้นยัพระราชทานเงินจำนวน ๕๐ ล้านบาท แก่หน่วยทันตกรรมพระราชทาน จัดตั้งเป็น “กองทุนทันตกรรมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อใช้ในการขยายงานให้บริการรักษา การส่งเสริมสุขภาพช่องปากและการส่งเสริมเผยแพร่งานวิจัยด้านสุขภาพช่องปาก
คำสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๑ ได้กล่าวว่า นอกจากหน่วยทันตกรรมพระราชทานทางบกแล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเรือยนต์ “เวชพาหน์” แก่สภากาชาดไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ เพื่อให้ออกบริการทางแพทย์และทางทันตกรรมแก่ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากฝั่งน้ำในชนบท ลักษณะของเรือนั้นจัดสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาอย่างแท้จริง มีห้องตรวจโรค ห้องผ่าตัด ห้องทันตกรรม ตู้ติดผนังสำหรับเก็บยาและเนื้อที่บางส่วนสำหรับจ่ายยา
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์นี้ ถือได้ว่าเป็นแม่แบบงานบริการทางทันตกรรมเคลื่อนที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ราษฎร ผู้เจ็บป่วยที่ได้รับการบำบัดรักษา และงานทันตสาธารณสุขของไทยอย่างหาที่สุดมิได้
แต่แม้กระนั้น เมื่อพระองค์ท่านประสบปัญหาพระทนต์ด้วยพระองค์เองและกำลังจะได้รับการถวายการรักษา แต่พระองค์กลับเลือกที่จะไปบำบัดทุกข์ของราษฎรแทนทุกข์ของพระองค์เอง ดังที่มีการบันทึกไว้ว่า
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ พระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหักเฉียดพระประสาท พระองค์ท่านทรงเสียวพระทนต์มาก ทรงนัดให้ทันตแพทย์ถวายการรักษาเวลา ๕ โมงเย็น เมื่อถึงเวลานัด พระองค์เสด็จฯมาพบและรับสั่งถามว่า จะต้องใช้เวลารักษานานหรือไม่ เมื่อทันตแพทย์ทราบพระอาการจึงกราบบังคมทูลว่า ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑ ชั่วโมง พระองค์รับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นก็เอาไว้ก่อน เพราะขณะนั้นน้ำกำลังท่วมกรุงเทพฯซึ่งสำคัญกว่า ราษฎรกำลังเดือดร้อน เพราะถ้าน้ำท่วมลดลงเพียง ๑ เซนติเมตร เขาจะสบายใจขึ้นมาก
ทันตแพทย์พยายามกราบบังคมทูลทัดทานขอให้รักษาพระทนต์ก่อน มิฉะนั้นจะต้องถึงพระประสาท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจ็บมากขึ้น พระองค์ท่านก็ยังรับสั่งว่า “ไม่เป็นไร เราทนได้ ราษฎรสำคัญกว่า” แล้วเสด็จฯไป ทันตแพทย์รู้สึกซาบซึ้งใจจนน้ำตาไหลว่าเป็นความจริงที่เขาพูดกันว่า สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ทุกข์ของราษฎรนั้นยิ่งใหญ่กว่าทุกของพระองค์ ท้ายสุดพระทนต์องค์นั้นต้องรักษาคลองรากฟันและทำครอบฟันในที่สุด
และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ วังไกลกังวล เวลาจะถวายการรักษาพระทนต์ต้องทำถวายบนรถเคลื่อนที่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ทันตแพทย์หาที่ทำพระทนต์ใหม่ เพราะจะประทับ ณ วังไกลกังวลเป็นการถาวร แต่จะแปรพระราชฐานไปกรุงเทพฯเป็นครั้งคราว ให้ทันตแพทย์ไปดูที่ Golden Place ชั้น ๒ ถ้าใช้ได้ให้ทำเป็นห้องทำฟันที่มีเก้าอี้ทำฟัน ๒ เก้าอี้ เพื่อราษฎรจะได้ไปใช้ด้วย เมื่อทันตแพทย์ไปดูเห็นว่าไม่เหมาะ จึงหาห้องทำพระทนต์ใหม่ ได้เป็นศาลา ๘ เหลี่ยม ติดที่ประทับใกล้ทะเล จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเห็นชอบด้วย แต่มีรับสั่งว่า “ห้องนั้นเคยเป็นห้องทรงพระอักษรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ไปขออนุญาตสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสียก่อน” ทันตแพทย์จึงต้องไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาต จะเห็นว่า แม้พระองค์ทรงเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำอะไรก็ได้ไม่เห็นต้องขออนุญาตใคร แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล้วไม่เป็นเช่นนั้น
ในการถวายการรักษาพระทนต์ทุกครั้ง เมื่อถวายการรักษาเสร็จพระองค์จะยังไม่เสด็จกลับโดยทันที จะมีพระราชปฎิสันถารด้วยเป็นเวลานานๆ และก่อนเสด็จฯ กลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงขอบใจและชมหมอทีละคน พร้อมน้อมพระวรกายลงมาใกล้ๆ ทุกๆ คน เช่นเดียวกับที่เราเห็นเสมอ เมื่อเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรต่างจังหวัดบ่อยครั้ง นอกจากจะขอบใจแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงให้กำลังใจ ให้ความสำคัญกับทันตแพทย์ รับสั่งเสมอว่า “ใครว่าฟันไม่สำคัญ เราว่าฟันสำคัญ คนเราถ้าฟันไม่ดี จะทำให้สุขภาพด้านอื่นๆ พลอยด้อยไปด้วย”
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ทันตแพทย์ไทยทั้งประเทศ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
(หมายเหตุ ข้อมูลจาก หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔)
ผู้เขียน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- 114 views