รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ เป็น 1 ในหลายโครงการ ที่เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่เข้าไม่ถึงบริการ นับเป็นการให้โอกาสที่เท่าเทียมทางคุณภาพชีวิต ให้ได้รับการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขของประเทศแบบยั่งยืน
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า "เวลาไม่มีฟัน กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" และพระราชดำรัสแก่คณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษารากฟันเทียมว่า “สามสิบบาท รักษาได้หรือไม่” ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช และเหล่าทันตแพทย์ จึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริการรากฟันเทียมให้แก่ประชาชนไทย แต่การฝังรากเทียมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่ยากจนล้วนสูญเสียโอกาสไม่สามารถมารับการรักษาที่เหมาะสมได้ จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยผู้ด้อยโอกาส
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมชั้นสูง (ADTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สวทช. และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริการรากฟันเทียมให้แก่ประชาชน โดยจัดทำโครงการสนองพระราชดำรัส จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
1.โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีเป้าหมายในการผลิตรากฟันเทียมจากผลงานวิจัยขึ้นใช้เองในประเทศและให้บริการรากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุ โดยฝังรากฟันเทียม จำนวน 2 ราก จำนวน 10,000 ราย ทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ผลการดำเนินงาน ในปี 2550-2554 จำนวน 10,008 ราย หลังจากฝังรากฟันเทียมให้ผู้ป่วย พบว่าเมื่อฟันเทียมอยู่นิ่งกับที่มากขึ้น ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารจะดีขึ้น จะไม่หลวมหลุดขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากกว่าการใส่ฟันเทียมแบบดั้งเดิมและยังช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้การฝังรากฟันเทียมยังช่วยชะลอหรือทำให้การละลายตัวของกระดูกลดลง
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงสู่ประชาชนทั่วไป โดยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน และเกิดแนวทางในการพัฒนาต่อยอด ซึ่งจะสามารถลดการนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศ ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการฝังรากฟันเทียมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพในราคาที่ถูกลง โดยผลิตได้เองภายในประเทศสอดคล้องกับแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 – 2557 หรือในชื่อ “ข้าวอร่อย” ความสุขพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชน ปี 2558 โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามรากฟันเทียมในโครงการ ว่า “ข้าวอร่อย” ซึ่งเป็นรากฟันเทียมที่พัฒนาจากต้นแบบงานวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ต่อมาได้ขยายเวลาไปถึงปี 2559 โดยในปี 2558 รัฐบาลได้คัดเลือกเป็นโครงการของขวัญแก่ประชาชน เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น เป้าหมายดำเนินงานฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ป่วยที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 8,400 ราย ผลการดำเนินงาน 6,315 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2559)
3.โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 เป็นโครงการที่ต่อยอดการบริการรากฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ และกระจายลงสู่สถานบริการส่วนภูมิภาคให้ทั่วถึงครบระบบรากฟันเทียมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ รากฟันเทียมสำหรับยึดฟันเทียมทั้งปาก รากฟันเทียมสำหรับยึดฟันเทียมบางส่วนชนิดถอดได้ และรากฟันเทียมเดี่ยวที่ทดแทนฟันบางซี่ จากผลงานพัฒนานวัตกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “รางวัลนวัตกรรมปี 2558” ซึ่งเป็นรากฟันเทียมที่ผลิตจากผลงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
มีเป้าหมายในการให้บริการผู้ป่วยโดยฝังรากเทียมขนาดเล็ก (Mini Implant) จำนวน 1-2 ซี่ เพื่อรองรับฟันเทียมบางส่วนชนิดถอดได้ จำนวน 1,000 ราก และมีการพัฒนาต้นแบบรากฟันเดี่ยว (Single tooth Implant) สำหรับทดแทนการสูญเสียฟันบางซี่ จำนวน 300 ราก รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรด้านทันตกรรมและสาธารณสุขให้มีความรู้และทักษะด้านทันตกรรมรากเทียมครบถ้วนทั้งระบบของการบริการ โดยคณะวิทยากรจากกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมรากเทียมจากหลายหน่วยงาน
การดำเนินโครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้ประชาชนชาวไทยเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมแล้ว ยังทำให้หน่วยบริการภาครัฐมีความพร้อมเป็นศูนย์การส่งต่อด้านทันตกรรมในส่วนภูมิภาค เพื่อให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากที่ดี ด้วยเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขของประเทศ วัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อสานต่อพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการพัฒนารากฟันเทียมให้สามารถผลิตได้เองในประเทศ และเพื่อเป็นการยกระดับทางวิชาการด้านสุขภาพช่องปากให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
- 863 views