รพ.ลาดหลุมแก้ว ดำเนินโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ รักษา ปชช.แล้ว 47 ราย 94 ราก รอฝังรากเทียมอีก 6 ราย สปสช.เผยสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยบัตรทอง ปี 2567 มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,700 ราย
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่เยี่ยมชม โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ณ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศทุก 5 ปี ของกรมอนามัย พบว่า ในปี 2560 ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่/คน และเมื่ออายุ 80-85 ปี ลดลงเหลือเพียง 10 ซี่/คน และยังพบผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากถึง 8.7%
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นวัตกรรมรากฟันเทียมมีราคาแพงมาก จนเมื่อประเทศไทยสามารถผลิตรากฟันเทียมได้ในราคาที่ต่ำลง สปสช.จึงมีแนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์นี้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับรากฟันเทียมในโครงการนี้ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องใช้ฟันเทียมทั้งปากแต่เหงือกร่นจนไม่สามารถใช้ฟันเทียมได้ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ลำบากที่สุดที่ไม่มีฟันในการบดเคี้ยวเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า สปสช. ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มอื่นๆ ที่อาจต้องการฝังรากฟันเทียมแค่ 1 ซี่ เพียงแต่ในขณะนี้ขอเริ่มที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปากและเหงือกร่นจนกระทั่งไม่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ก่อน และจะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆในอนาคต
“ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการบดเคี้ยว สามารถติดต่อไปยังหน่วยบริการที่มีทันตแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษา หากทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมก็จะดำเนินการฝังรากฟันให้ หรือถ้าหน่วยบริการนั้นทำไม่ได้ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำได้ โดย สปสช.จะสนับสนุนในการจัดซื้อรากฟันเทียมนี้ให้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาล” รองเลขาธิการสปสช. กล่าว
สำหรับโรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว เข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมตั้งแต่ปี 2550 ในปี 2566 วางเป้าหมายร่วมโครงการฯ 10 ราย ทำได้ 17 ราย 34 ราก ในปี 2567 เป้าหมาย 11 ราย ทำได้ 30 ราย 60 ราก รวมแล้ว 47 ราย 94 ราก และรอฝังรากเทียมอีก 6 ราย
ปีที่ผ่านมา บอร์ด สปสช.ติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังความคิดเห็น และเยี่ยมเสริมพลัง “โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้การรักษาฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปาก โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้การรักษาฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปาก
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. กรมอนามัยและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้บริการใส่ฟันเทียมถอดได้แบบทั้งปากหรือเกือบทั้งปากสำหรับทุกสิทธิการรักษา กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือ ปี 2566-2567 โครงการดังกล่าวนี้ มีเป้าหมาย คือ
1. ให้คนไทยได้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ใน 76 จังหวัด จำนวน 72,000 ราย
2. ให้ผู้ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปากได้รับบริการฝังรากฟันเทียมเพื่อรองรับฟันเทียมทั้งปากตามความจำเป็นใน 76 จังหวัด จำนวน 7,200 ราย
สำหรับรากฟันเทียมที่ใช้ในการรักษาผ่านระบบบัตรทองภายใต้โครงการนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากฝีมือของบริษัทไทย ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ เพราะต้องผ่านการพิสูจน์จากทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงมีราคาที่ไม่แพง ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมที่นำมาให้บริการ เป็นรุ่น PRK ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตโดยบริษัท มหาสวัสดิ์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเริ่มนำมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา ซึ่งในปี 2566 มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,500 ราย และปี 2567 อีกจำนวน 3,700 ราย สปสช. ได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมให้กับคนสิทธิบัตรทอง เมื่อช่วงปี 2564 ทำให้ทางโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้
- 189 views