กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม เตือนผู้สูงอายุหรือผู้ที่ใส่ฟันเทียม หากพบฟันเทียมชำรุด ขยับ หลวมหรือหลุดง่าย ไม่ควรใส่หรือใช้งานต่อ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้ อาจอันตรายถึงชีวิต หากฟันเทียมหลุดลงในคอหรือกลืนลงช่องท้อง

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ปัจจุบันมีรายงานข่าวพบผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียม ซึ่งใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน เกิดหลวมหลุด และเผลอกลืนฟันเทียมลงไปติดค้างที่หลอดอาหาร ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก หากชิ้นส่วนของฟันเทียมหลุดลงไปในช่องท้อง เพราะอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้หากฟันเทียมหลุดลงไปยังระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลม อาจไปปิดกั้นทางเดินหายใจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นควรหมั่นตรวจสอบฟันเทียมของตนเองอยู่เสมอ หากฟันเทียมชำรุด ขยับ แตก หัก หลวมหรือหลุดง่าย ไม่ควรใช้งานต่อหรือปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขทันที 

ทพญ.ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การใส่ฟันเทียม เพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติที่หายไป จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารและช่วยสร้างความมั่นใจ ซึ่งฟันเทียมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ฟันเทียมชนิดติดแน่น เช่น ครอบฟัน สะพานฟัน หรือรากฟันเทียม และอีกประเภทคือฟันเทียมชนิดถอดได้ มีทั้งชนิดฐานอะคริลิกและฐานโลหะ ซึ่งการใส่ฟันเทียมสามารถใส่ทดแทนฟันบางส่วนหรือทดแทนฟันทั้งปาก การใส่ฟันเทียมทุกชนิดควรทำโดยทันตแพทย์ผู้มีความชำนาญ ในกรณีของฟันเทียมชนิดถอดได้นั้น จะมีขั้นตอนในการทำหลายขั้นตอน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและการยึดอยู่ที่ดีของฟันเทียม เพื่อให้สามารถใช้ฟันเทียมได้ดี 

ด้าน ทพ.อุกฤษฏ์ ศรีสรฉัตร์ ทันตแพทย์ชำนาญการด้านทันตกรรม ผู้เชี่ยวชาญสาขาทันตกรรมประดิษฐ์ กล่าวถึงการใช้งานฟันเทียมชนิดถอดได้ ควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ควรเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไป เพราะอาจทำให้ฟันเทียมชำรุดเสียหายได้ อีกทั้งเมื่อใช้ฟันเทียมในระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1-5 ปี และขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่ใช้ทำฟันเทียม) ฟันเทียมอาจหลวมเนื่องจากกระดูกใต้ฐานฟันเทียมมีการละลายตัวเพิ่มขึ้น หรือมีการแตกหักของฐานฟันเทียม ตะขอหักหรือตะขออ้า ไม่รัดแน่นเหมือนเดิม ทำให้ฟันเทียมหลวมและขยับ เมื่อใช้งานอาจมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกหรือฟัน จึงควรพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อทำการตรวจเช็คสภาพฟันเทียม เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเทียมหลวมหลุดหรือกระดก โดยบางรายต้องเสริมฐานฟันเทียมหรือปรับตะขอให้แน่นขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องทำฟันเทียมใหม่ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดฟันเทียมทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มร่วมกับสบู่ และก่อนนอนควรถอดฟันเทียมออกทำความสะอาดแล้วแช่น้ำสะอาด ซึ่งการใส่ฟันเทียมในกรณีที่ยังมีฟันเหลืออยู่ในช่องปาก ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดฟันและฟันเทียม ทั้งนี้ควรพบทันตแพทย์ ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และตรวจเช็คฟันเทียมว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ รวมถึงรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและแก้ไขฟันเทียมอย่างถูกวิธี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ. เปิดโครงการ "ฟันเทียม รากฟันเทียม" เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ภาคใต้ช่วยผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org