สปสช.หนุน สธ. ยธ. ร่วมพัฒนา “ระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขัง” ช่วยผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่จำเป็นอย่างเหมาะสม พร้อมรุกส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเรือนจำ ทั้งคัดกรอง เฝ้าระวัง และค้นหาความเสี่ยงสุขภาพ เผยปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 2.8 แสนคน ในเรือนจำ 143 แห่งทั่งประเทศ พบ 4.3 หมื่นคน ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก รวมคนไทยและต่างชาติ ขณะที่ผู้ต้องขังร้อยละ 80 ถือสิทธิบัตรทอง เร่งปรับปรุงฐานข้อมูลผู้ต้องขังเพื่อพัฒนาระบบ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะส่งผลให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่ยังคงมีปัญหาการเข้าถึง ซึ่ง “ผู้ต้องขังในเรือนจำ” เป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบางนี้ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย นอกจากข้อจำกัดการบริการจากความจำเป็นในควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานที่รองรับกรณีที่การส่งตัวผู้ต้องขังเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีอุปสรรคทั้งในด้านสิทธิการรักษา ซึ่งผู้ต้องขังมีทั้งที่เป็นคนไทยมีเลข 13 หลัก ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ และคนต่างด้าว/คนต่างชาติ งบประมาณในการดูแลค่าใช้จ่าย รวมถึงการบูรณาการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานกลางและหน่วยบริการในพื้นที่
ขณะเดียวกันจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม คำนึงถึงสิทธิด้านมนุษยธรรมของผู้ต้องขัง นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ภาคีภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ สปสช.เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน และสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความคืบหน้าการจัดการข้อจำกัดและความร่วมมือหลายประการ เช่น การจัดการฐานข้อมูลผู้ต้องขัง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ร่วมกันในระดับจังหวัด การออกแบบกลไกการทำงานร่วมกัน การกำกับติดตามในระดับเขตเพื่อให้ทำงานเชื่อมต่อกับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ต้องขัง ณ เดือนมีนาคม 2560 มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 287,821 คนในเรือนจำทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังที่มีเลข 13 หลัก 244,745 คน คิดเป็นร้อยละ 85 ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก 43,076 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 29,360 คน และคนต่างชาติ 13,716 คน และเมื่อดูสิทธิการรักษาพยาบาล จากข้อมูล ณ ฐานทะเบียน ณ เดือนธันวาคม 2559 พบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่าร้อยละ 80 รองลงมาเป็นสิทธิประกันสังคมร้อยละ 2.03 นอกนั้นเป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ อาทิ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลใดๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาผู้ต้องขังเพื่อให้มีความถูกต้องเพิ่มขึ้นเพื่อจัดระบบดูแล
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี 2560-2564 ได้เน้นความครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยให้ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการพัฒนาจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง โดยมีการจัดบริการและชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่งานอนามัยแม่และเด็กสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนจองจำ บริการวัคซีนที่จำเป็น การคัดกรอง เฝ้าระวัง ค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาพ อาทิ วัณโรค เอดส์ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้ต้องขังสูงอายุ รวมถึงจิตเวช เป็นต้น
“สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากความร่วมมือในระดับประเทศที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา ที่ได้ร่วมกับ รพ.เดอะโกลเดนเกท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งได้มีการจัดพื้นที่ใน รพ.เพื่อรองรับผู้ป่วยในที่เป็นผู้ต้องขังเฉพาะ ซึ่งช่วยลดการตีตราผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในเรือนจำ จนเป็นรูปแบบการจัดระบบบริการรสุขภาพผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 25 views