ขณะนี้กลไกที่เกี่ยวกับ health promotion และ health literacy กำลังดำเนินการอยู่ ดูโดยเนื้อแท้แล้วมีสิ่งที่ซ้ำซ้อน กำกวม และไม่ชัดเจน ภายใต้จริตการดำเนินการที่มุ่งหน้าหาสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดที่ควรทำ และอยากจำกัดชนิดกิจกรรมที่ทำด้วยอีกนัยหนึ่ง
กับดักที่เป็นหลุมดำในเรื่องนี้นั้นมี 2 ประการ
หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องปัจจัยนำเข้าสู่ระบบการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค ได้แก่ สินค้า ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีมากมายดาษดื่น แต่มีตัวหลอกเสียเป็นส่วนใหญ่ ตัวที่ได้ผลนั้นมีน้อย อยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง หรือถึงมีก็ราคาค่างวดสูง กำลังการผลิตหรือให้บริการไม่เพียงพอ
สอง ว่าด้วยมุมมองด้านกระบวนการคิด จัดสรร หรือทำระบบสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค ที่ดำเนินไปแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปีที่ไม่ค่อยได้ปรับให้ทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร
หลุมดำใหญ่คือการไม่สามารถมองความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ดำเนินการอยู่ ทำให้ทำกันแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน มีทรัพยากรเท่าไหร่ก็ไม่พอหรือไม่ก็มีทรัพยากรมาแต่ไม่รู้จะนำไปทำการพัฒนาอย่างไรให้ดีกว่าเดิม
คนจะแข็งแรงดี หรือจะป่วยในระยะน้อยไปถึงระยะท้ายของชีวิต ก็สามารถทำการเสริมสร้างสุขภาวะให้ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย หรือแย่สุดก็ประคองไม่ให้แย่ลงจนเกินกว่าที่ควร
"การสร้างเสริมสุขภาพนั้นจะทำได้ผลและคุ้มค่า จำเป็นต้องมองผ่านเลนส์ของ health literacy" หรือการหวังจะให้คนปฏิบัติดีปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร เข้าถึง เข้าใจ ทั้งแหล่งข้อมูล ข้อมูล ตัวสินค้าผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการต่างๆ ที่มีในสังคม และตัดสินใจเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพของตนเอง บังคับ จูงใจ แข่งขัน ชมเชย ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่เคยได้รับการนำมาใช้มานานนม แต่เป็นไปแบบกระเส็นกระสาย ไม่เป็นระบบ ไม่ได้วางแผนต่อเนื่องจากต้นน้ำยันปลายน้ำ และที่สำคัญคือ ไม่ได้ทำโดยรู้เท่าทันสถานการณ์ว่ากำลังตกหลุมดำทั้ง 2 อย่างข้างต้น!!!
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 14 views