เคยบอกไปว่าอาจเกิดปัญหาได้ ตั้งแต่ได้ทราบว่าแผนการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นประกอบด้วย 3 ทางคือ ออนไลน์ เวที 4 ภาคที่โรงแรม ภาคละ 1 วัน ประมาณ 300 คนในแต่ละครั้ง และตบท้ายด้วยเวทีปรึกษาสาธารณะที่จัด 1 วันแต่จะเลือกเชิญเฉพาะคน เดาคร่าวๆ เต็มที่คงได้ความเห็นหลักหมื่น แต่ พ.ร.บ.นี้เกี่ยวข้องกับคนอย่างน้อย 48 ล้านคน คิดเป็นเพียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้เกี่ยวข้องหลัก ที่หลุดไปมากๆ คงเป็นคนเบี้ยน้อยหอยน้อย คนสูงอายุ คนในภาวะพึ่งพิง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่มีโอกาสต้องไปรับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มที่ยังมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่จะสามารถเข้าถึงออนไลน์หรือมาร่วมเวทีได้

หากมองอย่างเป็นกลาง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ดีทั้งต่อประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประเทศชาติ โดยพิจารณาถึงการมีอยู่ของทรัพยากรทั้งคน เงิน ของ และการเลือกใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับประเทศ

คุณูปการของการมีระบบหลักประกันสุขภาพนั้นมีมากมาย ดังที่เห็นได้จากการที่ทั่วโลกล้วนถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่าระบบที่มีอยู่นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อโรงพยาบาลรัฐ และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเรื่องภาระงานที่เกินความจำเป็น กระบวนการที่เป็นปัญหาในการตัดสินใจดูแลรักษาหน้างาน ตลอดจนผลต่อสถานะการเงินของ รพ. จนเกิดโดมิโน่เอฟเฟคที่ทำให้บุคลากรลาออกจากระบบ นั่นจึงเป็นที่มาของการที่รัฐบาลสร้างกลไกปรับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยมีกรรมการชุดต่างๆ ทำขึ้นมาจนได้ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่จะปรับทั้งหมด 14 ประเด็นหลัก ครอบคลุมทั้งเรื่องคน เงิน ของ วิธีการบริหารจัดการ และองค์ประกอบของบอร์ดบริหารกองทุน

ทั้งนี้ความจำเป็นในการปรับเพื่อพัฒนาระบบและแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นเป็นที่เข้าใจได้ แต่จุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการปรับ พ.ร.บ.นั้นกลับยากที่จะได้รับการยอมรับจากหลายคน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยได้รับรู้ หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการ และหวังอยากจะได้ทราบรายละเอียด ร่วมให้ความเห็นเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ. และร่วมให้ความเห็นชอบ ก่อนที่รัฐบาลจะผลักดันสู่กระบวนการประกาศใช้นโยบาย

จุดอ่อนดังกล่าวเริ่มจากการที่กำหนดกรอบเวลาเพียง 1 เดือนในการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเรื่องใหญ่เช่นนี้ การออกแบบรูปแบบกิจกรรมเพื่อทำประชาพิจารณ์จึงออกมาแบบจำกัดจำเขี่ย พยายามทำ ทั้งที่รู้กันดีว่าไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ได้รับการมองจากบางคนว่า อาจเป็นกระบวนการทำแบบพอเป็นพิธี รีบทำรีบเลิก และปิดกั้นการมีส่วนร่วม นำมาซึ่งการต่อต้านรูปแบบต่างๆ จากเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ในเวทีรายภาคที่ผ่านมา 3 ครั้ง

ผมเองคิดว่าเข้าใจหัวจิตหัวใจของทั้งภาคประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และคนทำงานประชาพิจารณ์ หากมองเป็นกระดานหมากรุก ก็เปรียบเหมือนการที่เครือข่ายประชาชนโดนจำกัดตัวหมากและตาหมากที่จะเดิน ทั้งๆ ที่ทั้งกระดานมีพื้นที่มากและตัวหมากอื่นที่สามารถให้เลือกได้ ในขณะที่คู่เล่นกลับคุมเกมส์เบ็ดเสร็จมากเกินไปจนสร้างบรรยากาศมาคุ เหมือนกำลังจะรุกฆาต

ทางเลือกที่เครือข่ายประชาชนจะทำได้จึงมีเพียงตะโกนบ่นในเกมส์ เดินออกจากเกมส์ หรือสุดท้ายคือหาวิธีล้มกระดาน เพราะไม่รู้สึกถึง "ความเป็นธรรมในเรื่องการมีส่วนร่วม" สุดท้ายแล้ว เกมส์กระดานนี้ในสถานการณ์ต่างๆ ข้างต้น จึงมีแต่ผู้คุมเกมส์ที่มีโอกาสยิ้ม แต่ทุกฉากที่เป็นไปได้ ผู้เล่นอีกฝ่ายจะมีแต่ความเหนื่อยและไม่พอใจ ทั้งๆ ที่เรื่องหลักประกันสุขภาพนี้เป็นเรื่องของทุกคน เหตุใดจึงไม่หาทางให้ยิ้มและยอมรับกันและกันตอนจบเกมส์ล่ะ?

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้จะราบรื่นกว่านี้มาก หากสัปดาห์หน้าจะมีการหารือในหมู่ผู้บริหารและกรรมการปรับ พ.ร.บ. ให้ทำการขยายเวลาทำประชาพิจารณ์ ยอมรับความจริงว่าทำไม่ได้ในเวลาที่วางไว้ตอนแรก และจัดสรรทรัพยากรเพื่อดำเนินการให้เพียงพอ ทีเรื่องตอบ 4 คำถาม ยังปรับแผนรับฟังความเห็นไปยังโรงเรียน และห้างสรรพสินค้าได้เลย แถมสื่อยังช่วยประโคมข่าวตลอดทุกวัน เรื่องหลักประกันสุขภาพก็ควรทำ

หากผมออกแบบ ผมจะขยายไปที่วัด ตลาด โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และที่อื่นๆ ที่ปุถุชนคนธรรมดาไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ปรับกระดานหมากรุกนี้ให้มีรอยยิ้มกันเถอะครับ...

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย