การเสียชีวิตของแพทย์ท่านหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาสภาพการทำงานของแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งต้องทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดเป็นความเสี่ยงต่างๆนานาจนนำไปสู่ความสูญเสียในที่สุด อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียว และยังคงมีก้อนน้ำแข็งใต้น้ำอีกมากที่รอวันผุดขึ้นมาปรากฏแก่สายตาสักวันหนึ่งในอนาคต
นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล
“แพทย์ใช้ทุน-แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป” น่าเป็นห่วง
นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา บอกเล่าถึงสภาพการทำงานของแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในปัจจุบันนี้ว่า หากกล่าวถึงเฉพาะแพทย์อาจจะแบ่งคร่าวๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหาร 2.กลุ่มแพทย์เฉพาะทาง และ 3.แพทย์ใช้ทุน แพทย์เพิ่มพูนทักษะ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ซึ่งในกลุ่มที่ 3 นี้เองที่ต้องให้ความสำคัญและดูแลมากที่สุดเพราะต้องอยู่เวรมาก บางกรณีต้องอยู่ถึง 44 เวรต่อเดือน
นพ.แมนวัฒน์ ขยายความว่า ในส่วนของพี่ๆ กลุ่มผู้บริหารหรือผู้อำนวยการอาจจะตรวจผู้ป่วยนอกและงานอื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบงานบริการมากนัก ไม่ได้อยู่เวรนอกเวลากับน้องๆ มีบางโรงพยาบาลเท่านั้นที่ผู้อำนวยการยังหารเวรกับน้องๆ แต่มักเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก การอยู่เวรอดหลับอดนอนจึงไม่หนักนัก แต่จะไปเหนื่อยในเรื่องบริหารซึ่งต้องดูแลบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลแทน
ขณะที่กลุ่มแพทย์เฉพาะทาง ปัจจุบัน รพช.จำนวนหนึ่งมีการเพิ่มตำแหน่งแพทย์เฉพาะทางมาดูแลผู้ป่วยเฉพาะด้านที่ซับซ้อน รวมถึงรับปรึกษาให้กับน้องๆ ทั้งในและนอกเวลา ซึ่งนอกจากตรวจคนไข้นอกและทำงานในเวลาแล้ว นอกเวลาก็ต้องอยู่เวรด้วย โดยหลักๆ อาจจะเป็นเวรรับปรึกษาให้แพทย์รุ่นน้อง กล่าวคือต้องมาดูคนไข้ได้ทันทีที่ถูกตาม แต่ไม่ต้องประจำอยู่บนตึก และอาจจะต้องแบ่งเวรห้องฉุกเฉินหรือเวรอื่นๆ กับน้องบ้าง แต่ก็ยังมีสัดส่วนเวรที่น้อยกว่า
"รพช.แต่ละแห่งมักมีแพทย์เฉพาะทางไม่กี่คน มีทั้งที่เวรหนักและไม่หนัก ขึ้นกับสาขาที่เชี่ยวชาญและโรงพยาบาลที่อยู่ รวมถึงการรับส่งต่อจาก รพช.อื่นหรือไม่ แต่ก็มักเป็นคนไข้สาขาเฉพาะของตน ด้วยความที่มีประสบการณ์มากกว่าน้องๆ จึงมักดูแลบริหารจัดการได้ไม่ยากนัก กลุ่มนี้ก็ไม่ค่อยน่าห่วง" สูตินรีแพทย์ รพ.โชคชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มแพทย์ใช้ทุน แพทย์เพิ่มพูนทักษะ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นน้องๆ แพทย์ที่ยังประสบการณ์ไม่มาก งานหลักคือดูแลคนไข้ใน ตรวจคนไข้นอก เฝ้าห้องฉุกเฉิน ทำหัตถการต่างๆ ที่ไม่ซับซ้อน และคัดกรองคนไข้เพื่อส่งปรึกษาหรือส่งต่อตามความจำเป็น และนอกจากงานในเวลาราชการแล้ว เวรนอกเวลาก็จะเยอะ เนื่องจากจำนวนและความต้องการของคนไข้ในปัจจุบันมีมากขึ้น รพช.ส่วนมากจึงต้องจัดแพทย์เพื่อตรวจผู้ป่วยนอกนอกเวลาเพิ่มจากเวรฉุกเฉิน จำนวนเวรที่ต้องอยู่จึงมากตามไปด้วย
"เจ้าหน้าที่อื่นจะนับเป็นเวร เช้า บ่าย และดึก ส่วนของแพทย์มักจะต้องเหมาทั้งวันและคืนในกรณีเป็นเวรห้องฉุกเฉิน เวรรับปรึกษาหรือเวรหอผู้ป่วยใน คือเช้าตรวจคนไข้ 8.30-16.30 น. เลิกงาน 16.30 น. รับเวรทันทีแล้วดูแลคนไข้ต่อทั้งคืนถึงเช้า...พอเช้าไม่ได้กลับไปนอนนะครับ ตรวจคนไข้ต่อเลย ลักษณะเวรหมอเป็นแบบนี้และเป็นเหตุผลว่าทำไมหมอที่มาตรวจตอนเช้าบางครั้งถึงได้ดูโทรมนัก ถามว่าไม่พร้อมแล้วทำไมยังมาทำงานต่อ คำตอบคือถ้าไม่มาก็ไม่มีหมอหรือมีไม่พอ" นพ.แมนวัฒน์ กล่าว
นพ.แมนวัฒน์ ยกตัวอย่าง กรณี รพช.ขนาดกลาง หากมีหมอทั่วไป 7 คน ตัดผู้อำนวยการไป 1 คน เหลือหมอ 6 คน วันธรรมดาต้องมีเวรตรวจนอกเวลา 1 คน ห้องฉุกเฉิน 1 คน เวรวันหยุดต้องมีตรวจนอกเวลา 1 คน ห้องฉุกเฉิน 1 คน และหอผู้ป่วยใน 1 คน ในหนึ่งเดือนจะมีจำนวนเวรที่หมอ 6 คนต้องแบ่งกันอยู่ละประมาณคน 22 เวร บวกเวลาทำการปกติอีก 22 เวร เป็น 44 เวร
"44 เวรมากหรือเปล่าลองคิดเอานะครับ ยิ่งถ้ามีหมอในโรงพยาบาลน้อยกว่านี้ จำนวนวันก็จะยิ่งเยอะขึ้น หรือหากตัดเวรบางส่วนออก เช่น ตรวจผู้ป่วยนอกหรือเวรผู้ป่วยในวันหยุดออก หมอที่อยู่เวรวันนั้นก็จะมีภาระงานเพิ่มขึ้นมากไปอีก" นพ.แมนวัฒน์ กล่าว
“พักผ่อนน้อย”เสี่ยงอุบัติเหตุถึงชีวิต
ด้วยชั่วโมงทำงานที่มากขนาดนี้ ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพตัวเองเท่าที่ควร กินไม่ตรงเวลา พักผ่อนน้อย เวลาว่างก็มักนอนหรือหาของอร่อยๆ กิน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และการทำงานเกินกำลังก็ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งต่อตัวผู้ป่วยและตัวแพทย์เอง
“ผมอ่าน post ของน้องที่รู้จักกัน อวดกันว่าใครเคยติดวัณโรคจากคนไข้มาบ้าง ใครโดนเข็มทิ่ม เข็มตำ น้ำคร่ำ กินยาต้านไวรัสกันมากี่ครั้ง หรือเคยเฉียดจากการหลับในกันรึเปล่า ตลกร้ายไหมครับ อย่างตัวผมเองเคยต้องกินยาป้องกันเอชไอวี 2 รอบเนื่องจากโดนเข็มตำ น้ำคร่ำ เลือด CSF กระเด็นใส่” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว
ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการคือการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร จากสถิติการเสียชีวิตของแพทย์ สถิติสูงสุด ไม่ได้เกิดจากการติดโรคหรือป่วยจากงานแต่คืออุบัติเหตุจากการจราจร ในทุกๆ ปีจะได้ข่าวเสมอว่ามีน้องๆ รถคว่ำรถชนเสียชีวิตขณะขับกลับบ้านหลังจากออกเวร หรือเพื่อนที่เรียนจบออกมารุ่นเดียวกันก็เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตไป 2 คน แม้แต่ตัว นพ.แมนวัฒน์เองก็เคย “เฉียด” ขับรถหลับใน ลืมตามาอีกทีเจอเกาะกลางถนนหลายรอบ บางครั้งขับรถกลับจากบ้านระยะทาง 250 กม.ใช้เวลาเกือบ 10 ชม.เพราะแวะงีบตลอดทาง
“แม้เวรหนักจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงแต่ทำให้หมอต้องพักผ่อนน้อย การต้องขับรถในเส้นทางไม่คุ้นเคย การต้องไปทำงานไกลบ้านเพื่อผู้อื่น ทำให้พวกเราต้องเสี่ยงชีวิต แต่โดยส่วนตัวผมไม่ขอให้ใครมาสงสารหรือหวังว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องมารับผิดชอบออกกฎจำกัดชั่วโมงการทำงานอะไร เพราะรู้ดีว่า ณ ขณะนี้ ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะจำกัดชั่วโมงการทำงาน และพวกเราเลือกกันเองที่จะมาทำงานนี้ รู้สภาพมาก่อนแล้วว่าต้องเจอกับงานหนักและความไม่พร้อม เป็นคนจัดตารางเวรติดๆ กันเองเพื่อให้มีโอกาสได้พักผ่อนกลับบ้านบ้าง ไม่มีหมอคนไหนเลยที่ผมรู้จักที่ต้องทำงานต่อเนื่องแค่ 24 ชม. อย่างน้อยทุกคนเคยทำ 72 ชม.ในการทำงานวันศุกร์แล้วอยู่เวรศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ บวกกับต้องตรวจคนไข้ต่อวันจันทร์กันทั้งนั้น เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้จะไม่มีใครได้กลับบ้านวันหยุดเลย แต่ถึงทำแบบนี้ก็ยังได้กลับกันแค่ 1-2 ครั้งต่อเดือน” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ไม่คาดหวังมาตรการอะไรจากกระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างน้อยขอแค่ผู้ใหญ่เข้าใจและเห็นถึงความเสียสละนี้บ้าง เบื้องต้นขอแค่กระทรวงออกมายอมรับว่ามีปัญหาจริงๆ คำพูดบั่นทอนว่าหมอรับเวรเยอะเพราะอยากได้เงินมาก บางคนรับเวรเอกชน มีระเบียบห้ามอยู่แล้วไม่ให้ทำงานเกิน 24 ชม. แบบนี้ไม่ควรออกมาจากผู้บริหารกระทรวง
นอกจากนี้ ในส่วนที่สามารถดำเนินการปรับปรุงได้เลยคืออยากให้ผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ ลงมาดูแลการทำงานและการจัดเวรของน้องๆ แพทย์ อย่าให้ทำงานจนป่วย หากมีคนป่วยต้องได้พัก หรือถ้าคนมาอยู่เวรไม่ได้ ผู้บริหารก็ควรต้องยอมเสียสละมาเฝ้าโรงพยาบาลแทนน้อง ยอมเหนื่อยไปกับน้อง หรือยอมเสียชื่อบ้าง เช่น กรณีหมอไม่พอเนื่องจากป่วยหรือลากิจแล้วหาคนมาแทนไม่ได้ ก็น่าจะประกาศให้คนไข้รู้เลยว่าโรงพยาบาลไม่พร้อม ขอปิดให้บริการนอกเวลาโดยในรายที่อาการไม่ฉุกเฉินขอให้ไปรับบริการที่อื่น
เช่นเดียวกับพี่ๆ สต๊าฟโรงพยาบาลใหญ่ก็ควรดูแลน้องด้วย เอาน้องอินเทอร์นไปช่วยงาน รับแพทย์พี่เลี้ยงไปทำงานแทน บางโรงพยาบาลน้องอยู่เวรวันเว้นวัน ช่วงไหนคนขาดก็ต้องอยู่ทุกวันซึ่งหนักมาก ไม่ได้พัก แต่พี่ๆ กลับสามารถไปรับปรึกษาที่คลินิกได้ แบบนี้ไม่ควรมี
“ส่วนที่ฝากไว้สำหรับน้องๆ นะครับ อย่าหวังพึ่งใคร ดูแลตัวเองให้ดี หาเวลาพักผ่อน หาเวลาให้พ่อแม่และครอบครัว อย่าห่วงองค์กรมาก ไม่ไหวก็คือไม่ไหว ป่วยก็ต้องพัก เป็นหน้าที่พี่ๆ สต๊าฟ ผู้บริหาร ต้องไปแก้ไขหาคนแทนเอาเอง พยายามอย่ารับเวรมากเกินกำลัง ขับรถอย่าใจร้อน ชีวิตมีค่าเกินกว่าจะมาเสี่ยง เหนื่อยก็จอดพัก พยายามทำตามหลักความปลอดภัยในการทำงาน ใส่ถุงมือ ใส่กาวน์ ใส่ MASK และขอย้ำอีกรอบ ง่วงไม่ต้องกลับบ้าน นอนเท่านั้น” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว
บัตรทองไม่ใช่ต้นตอปัญหา
ทั้งนี้ ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีอย่างมาก อาจทำให้มีบางคนวิจารณ์ว่าเกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองทำให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ในมุมมองของ นพ.แมนวัฒน์ มองว่าจะไปโทษบัตรทองคงไม่ได้เพราะคงไม่มีใครที่ตั้งใจมาต่อคิวรอในโรงพยาบาลรัฐเล่นๆ ส่วนตัวแล้วมองว่าภาระงานที่มากขนาดนี้เนื่องจากระบบสาธารณสุขมีการดูแลดีขึ้นในแง่การคัดกรองและการรักษา สามารถคัดกรองผู้ที่ป่วยเป็นโรคมาได้มากขึ้น ทบมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคนี้ประมาณ 11 ล้านคนและเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน คนไข้กลุ่มนี้ต้องมารับการตรวจเป็นประจำ เป็นงานหนักของโรงพยาบาลในการดูแล นอกจากนั้นในหลายๆ พื้นที่ก็มีประชากรแฝงจากแรงงานต่างชาติ แรงงานต่างพื้นที่จำนวนมาก ภาระงานจึงเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
"ต้องยอมรับว่าประชากรเรายังมีปัญหาความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองอยู่มาก จึงไม่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นหรือป้องกันโรคที่ควรป้องกันได้ได้ ขณะนี้งานหลักของ รพช. ยังเป็นการตั้งรับในโรงพยาบาล ไม่ได้ไปเน้นการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ได้แต่หวังว่าในอนาคตหากคนไข้มีความรู้มากขึ้น จำนวนหมอมากขึ้น สถานการณ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น คนไข้ลด เวรลด หมอใน รพช.จะได้ออกไปทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค" นพ.แมนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
- 1168 views