คสร.ท้วงคำชี้แจงอธิบดีกรมบัญชีกลางกรณีทำบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลข้าราชการไม่สมเหตุผล ระบุข้ออ้างตรวจสอบสิทธิโดยใช้บัตรยิ่งยุ่งยาก เพราะต้องเพิ่มระบบยืนยันตัวตนอีก ไม่ใช่แค่โชว์บัตร แต่ต้องพัฒนาระบบเช็คสิทธิ เท่ากับทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว ส่วนข้ออ้างความสะดวกยิ่งจะทำให้ช้อปปิ้งยาง่ายขึ้น ทำสูญเสียงบประมาณอีก จี้กรมบัญชีกลางใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ
นพ.มงคล ณ สงขลา
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) กล่าวว่า ตามที่อธิบดีกรมบัญชีกลางได้ยืนยันต่อสาธารณะที่จะเดินหน้าบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลข้าราชการ แม้จะมีข้อท้วงติงจาก คสร.ก็ตามโดยอ้างว่าเป็นการต่อยอด “โครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” ที่นำหลักการทำงานของบัตรเครดิตมาประยุกต์ใช้เพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวบุคคล ทดแทนการลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรง และตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษา
นพ.มงคล กล่าวว่า คสร.มีความเห็นต่อการชี้แจงดังกล่าวของอธิบดีกรมบัญชีกลาง ว่า 1. ข้ออ้างที่ว่าบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลข้าราชการเพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ตัวบุคคลทดแทนการลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกตรงค่ารักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาล โดยผู้มีสิทธิและครอบครัวสามารถใช้บัตรดังกล่าวเพื่อประกอบการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทันที ไม่ต้องรอการประมวลผลข้อมูลตามระบบเดิม นั้น คสร.เห็นว่า แม้ว่าการใช้บัตรนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการไม่ต้องไปทำบัตรเบิกจ่ายตรงรายโรงพยาบาลในมุมมองของข้าราชการน่าจะชอบใจ เพราะสะดวก แต่ระบบการตรวจสอบบัตรต้องเข้มข้นมาก
เพราะห้องบัตรโรงพยาบาลทุกแห่งต้องตรวจสอบสถานะบัตรนั้นว่า ยังใช้งานอยู่จริงในระบบฐานข้อมูลกลางและมีสิทธิในระบบหรือไม่ เพราะผู้ถือบัตรอาจเอาบัตรเก่าที่เคยได้รับแต่หมดสิทธิไปแล้วมาใช้ (เช่น ภรรยาที่หย่าแล้ว ลูกที่เกิน 20 ปี) สุดท้ายก็ต้องเสียบบัตรและเช็คออนไลน์ว่าบัตรยัง VALID (ยังอยู่ในระบบงานจริง) เพื่อยืนยันในการรักษาครั้งนั้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน ระบบเดิมที่กรมบัญชีกลางเคยเก็บลายพิมพ์นิ้วมือไว้เมื่อไป รพ.จริงๆ ก็ไม่เห็นเคยเอามาใช้ สมัยแรกๆ เคยเห็นพยายามตรวจสอบ แต่ไม่ work เลยเลิกไป เพราะฉะนั้น การแสดงบัตรก็อาจต้องเพิ่มระบบยืนยันตัวตนอีก เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ เรติน่าหรือรหัส pin code (ซึ่งทะเบียนราษฎร์ มีการออกแบบ pin code ให้คนไทยทุกคนอยู่แล้ว) แนวคิดต่างจากการออกบัตรเครดิต เพราะผู้ถือบัตรต้องรับผิดชอบการไปตามจ่ายเงิน แต่นี่มีกรมบัญชีกลางจ่ายแทน หากไม่มีระบบตรวจสอบยืนยันที่ดี บัตรนี้จะกลายเป็นบัตรสิทธิพิเศษสูงมาก เพราะไปที่ไปที่ไหนก็ได้ เดี๋ยวกรมบัญชีกลางก็มาจ่ายเอง
ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลางจะต้องพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิของทุกกองทุนอื่น ยกเว้นกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบสิทธิซ้ำซ้อน และต้องคอยปรับปรุงอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงเท่ากับว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ขาดการบูรณาการกับระบบอื่นและทำงานซ้ำซ้อนกับ สปสช.ซึ่งเป็นศูนย์ทะเบียนกลางสิทธิประกันสุขภาพตามมติ ครม.เมื่อเดือน พ.ย.2558 เช่น ถ้าคู่สมรสทำงานบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรตาม พ.ร.บ.เฉพาะอื่น ตามหลักต้องใช้สิทธิหลักของตนเองก่อน แต่เมื่อได้รับบัตรสิทธิรักษาข้าราชการไปเนื่องจากเป็นคู่สมรสของข้าราชการ เมื่อไปรักษาที่ รพ.ทาง รพ.จะปฏิเสธการรักษาแบบเบิกจ่ายตรงนี้ได้ไหม เพราะระบบเดิม รพ.สามารถตรวจสอบสิทธิจากเว็บไซต์ได้ และแจ้งผู้มารับบริการให้ใช้สิทธิเจ้าตัวหรือสิทธิหลักก่อน ส่วนต่างส่วนเกินหากมีการระบุ ก็ค่อยเบิกจากกรมบัญชีกลาง
“ที่สำคัญ เมื่อมันสะดวกขนาดนี้ การ shopping ไปรักษาจะง่ายขึ้น จะส่งผลให้ยอดการเบิกสูงขึ้นเพราะรักษาแบบมีคนจ่ายแทน ถ้าจะเอายาไปขายหรือเบิกเผื่อให้คนอื่น ไม่สามารถคุมได้ เพราะไม่มียอดเงินคุม เบิกไปได้เรื่อยๆ น่าจะเป็นความเสี่ยงในการทำให้ยอดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมา monitor และ audit ภายหลังจากข้อมูลการส่งเบิกของแต่ละ รพ. ซึ่งระบบข้อมูลปัจจุบัน กรมบัญชีกลางก็มีข้อมูลการเบิกรายบุคคลส่งเข้ามาอยู่แล้ว และส่งเบิกในระยะเวลาที่ไม่ช้าเนื่องจากกรมบัญชีกลางจ่ายเงินเร็ว ถ้าจะเพิ่มประสิทธิภาพ กรมบัญชีกลางน่าจะกำกับเวลาการส่งให้เป็นรอบสั้นลง เพราะผู้ป่วยนอกจ่ายแบบ fee for service (จ่ายตามการเรียกเก็บ) ก็วิเคราะห์และรายงานผลให้ผู้บริหารได้แล้ว” นพ.มงคล กล่าว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตที่ 2 คือ ตามที่อ้างว่า กรมบัญชีกลางจะใช้บัตรประกอบการตรวจสอบการทำธุรกรรมการชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางในระบบเบิกจ่ายตรง ทำให้กรมบัญชีกลางรับรู้ข้อมูลและค่าใช้จ่ายการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทันทีภายในวันเดียวกัน และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย ประเด็นนี้ คสร.เห็นว่า การรับรู้ค่าใช้จ่ายในวันเดียวกัน ทำได้เฉพาะผู้ป่วยนอกเท่านั้น (แสดงว่าห้องเก็บเงินทุก รพ.ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้) แต่ผู้ป่วยในต้องรอสรุปชาร์ตคนไข้และส่งเบิกตามระบบเคลม เพื่อประมวลผลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis related group : DRG) และจ่ายเงินชดเชยกลับให้ รพ. คนไข้เอาบัตรกลับบ้านไปแล้ว แล้วจะทราบจำนวนเงินในวันเดียวได้อย่างไร
ตามที่กล่าวอ้างว่า จะใช้เพื่อประกอบการทำธุรกรรมเพื่อชำระเงิน จะทำอย่างไร จะมีการเก็บข้อมูลการเข้ารักษาหรือค่าใช้จ่ายในบัตรหรือไม่ และต้องถามกลับว่า แล้วบัตรเครดิตทุกวันนี้ เค้าเก็บข้อมูลอยู่ที่ไหน ไม่มีใครเค้าเก็บในบัตรแต่เก็บไว้ในระบบคลาวน์หรือเครื่องแม่ข่าย แสดงว่าบัตรนี้ ก็ใช้ประโยชน์ได้เหมือนบัตรประชาชน คือ ยืนยันตัวเองเพื่อเข้ารับบริการ โดยการใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักและรูปถ่าย ส่วนจะทำให้เข้มข้น ก็ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือ pincode ซึ่งทะเบียนราษฎร์ทำอยู่แล้ว
“เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ยังหวังที่จะเห็นกรมบัญชีกลางมีโยนิโสมสิการในการทำงานเพื่อเพื่อนข้าราชการและใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มิใช่สักแต่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างล้างผลาญสิ้นสติ” นพ.มงคล กล่าว
- 12 views