ปลัดวิทย์แจง พ.ร.บ.นิวเคลียร์ มองภาพรวมประเทศ ยึดความปลอดภัยประชาชนตามหลักมาตรฐานสากล
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงประเด็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 อย่างเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2560 นี้ว่า พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ที่มีอยู่เดิม (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2508) ให้มีความทันสมัยเหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อการกำกับดูแลและควบคุมการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และเพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการยกร่างและเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้เพิ่มเติมช่วงปี 2549 – 2560 โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามที่กำหนดไว้ในแบบความจำเป็นในการตรากฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ อาทิ ผู้รับใบอนุญาตครอบครอง หรือใช้วัสดุต้นกำลัง วัสดุพลอยได้ และวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ หรือพลังงานปรมาณู ผู้นำเข้า – ส่งออกวัสดุดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษา เป็นต้น
และยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของ ปส. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์เป็นคณะกรรมการ เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ไทย สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลายจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง
รศ.นพ.สรนิต กล่าวต่อว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ด้วยจะช่วยกำกับดูแลเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างเพียงพอในการป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางนิวเคลียร์และรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม แม้ในเครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ หากมีค่าพลังงานเกิน 5 keV ตามที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กำหนดไว้ อย่างเครื่องกำเนิดรังสีทันตกรรมที่มีค่าพลังงานอยู่ที่ 60 keV – 120 keV ก็ต้องได้รับการควบคุมอย่างรัดกุม เพราะคำว่า “ปลอดภัย” ต้องอาศัยกระบวนการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความปลอดภัยที่ยอมรับได้ในสังคม
และหากมีเครื่องกำเนิดรังสีประเภทใดประเภทหนึ่งได้รับการยกเว้น ก็เป็นที่น่ากังวลว่าอาจมีการนำเข้าเครื่องกำเนิดรังสีมือสองจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้งาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้รับบริการ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานได้ ส่วนที่มีทันตแพทย์กังวลใจและเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว ขอยืนยันว่า ทันตแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพทางทันตกรรมจะไม่เสียผลประโยชน์อะไรเลย มีเพียงค่าใบอนุญาตครอบครองเครื่อง 1,000 บาทต่อ 5 ปี ค่าตรวจสภาพเครื่องทุก 2 ปี จ่ายเพียง 1,000 บาท และค่าใบอนุญาตเป็นผู้ดูแลเครื่องหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสี (RSO) เพียง 300 บาทต่อ 3 ปีเท่านั้น
- 4 views