คณะแพทย์ฯ ศิริราช จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ลงนามความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งแรกของไทยโดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รองรับการแข่งขันในระดับสากล
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศ.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิจัยด้านการแพทย์ครั้งแรกของไทยโดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับสากล โดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช
ศ.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนดำเนินงานภายใต้พันธกิจการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน รวมถึงการให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการถ่ายทอด การเรียนรู้เทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแสงขั้นสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ ด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ด้านวัสดุศาสตร์ ยางและพอลิเมอร์ สิ่งแวดล้อม โบราณคดี อีกทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และอีกหนึ่งงานวิจัยที่เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้าไปตอบโจทย์ได้นั่นคือ งานวิจัยทางการแพทย์
การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประตูโลกวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนให้มาเจอกับงานวิจัยด้านการแพทย์ พร้อมทั้งยังเป็นการขยายฐานงานวิจัยของแสงซินโครตรอนให้ครอบคลุมในทุกมิติของงานวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากความร่วมมือด้านงานวิจัยแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านพัฒนากำลังคน ทั้งด้านการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อให้คนไทย พร้อมเข้าสู่งานวิจัยในระดับสากล
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ โดยเฉพาะด้านอาหารและยา การพัฒนาระบบของไหลจุลภาคสำหรับโรคติดเชื้อ ผลึกศาสตร์ของโปรตีนก่อโรค และแอนติบอดีจำเพาะ ตลอดจนวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะเข้ามาร่วมวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับวงการการแพทย์ของไทย และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้จริง โดยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนจะเข้ามาช่วยไขปริศนา และต่อยอดข้อมูลงานวิจัยทางด้านนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อวงการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง
แสงซินโครตรอน คืออะไร?
แสงซินโครตรอน มีธรรมชาติเดียวกับแสงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟทั่วๆ ไป แต่มีความสว่างมากกว่าแสงในเวลากลางวันกว่า 1 ล้านเท่า มีขนาดของลำแสงเล็กได้ถึงขนาดของเส้นผม มีอำนาจทะลุทะลวงสูง สามารถตรวจวัดได้แม้สารตัวอย่างมีปริมาณน้อย และไม่ทำลายสารตัวอย่าง แสงซินโครตรอนครอบคลุม 4 ช่วงความยาวคลื่น ตั้งแต่แสงอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น แสงอัลตราไวโอเลต และรังสีเอกซ์ ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์ จึงใช้แสงซินโครตรอนในการไขความลับในระดับโมเลกุลและอะตอมได้หลากหลายวงการ
- 65 views