ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ย้ำ เครื่องเอ็กเซเรย์ของหมอฟันต้องมีการขึ้นทะเบียน เพื่อจะได้ตรวจสอบติดตามได้ว่าอยู่ที่ไหน ชี้แผ่รังสีเกิน 5 KeV ถือว่าแรงเกินกว่าจะปล่อยผ่าน
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า แม้กระทรวงวิทย์ฯ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และทันตแพทยสภา ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าทันตแพทย์สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) โดยไม่ต้องสอบ แต่กรณีที่มีข้อเรียกร้องจากทันตแพทย์บางกลุ่มให้นำเครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรมออกไปจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 เลยนั้น กระทรวงวิทย์ฯ ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียน เพราะเครื่องเอ็กซเรย์ของหมอฟัน มีความแรงเกิน 5 KeV ถือเป็นเครื่องที่ปล่อยรังสีขนาดกลาง และเกินมาตรฐานที่จะยอมได้
รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนดังกล่าว เพียงที่จะได้สามารถติดตามตรวจสอบ (tracking) ได้ว่าเครื่องกำเนิดรังสีเหล่านี้อยู่ที่ไหนบ้าง
“ในระดับนานาชาติกำหนดว่าเครื่องที่ปล่อยรังสีจะต้องมีการดูแล ซึ่งเครื่องเอ็กซเรย์ของหมอฟัน ความแรงมันเกินมาตรฐานที่เราจะยอมได้ การขึ้นทะเบียนก็เพื่อที่เราจะได้เห็นว่าเครื่องพวกนี้มันไปที่ไหนบ้างในประเทศไทย ถ้าคนหนึ่งซื้อมาแล้วอีกคนรับไปต่อ มันจะได้เห็นชัดเจนว่าเครื่องมันไปที่ไหน ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้เลย แล้วตรงนี้เราไม่ได้คิดเอง เราทำตามกติการะหว่างประเทศ ซึ่งค่าขึ้นทะเบียนถูกมาก 200 บาท/ปี 5 ปีต่ออายุทีนึงเท่านั้นเอง” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า กระทรวงวิทย์ฯ ยอมรับความคิดเห็นของวิชาชีพทันตแพทย์ ถ้าทางวิชาชีพมีหลักสูตรที่ดีแล้ว ก็ไม่ต้องสอบ ผ่านให้เลย เป็นการเคารพซึ่งกันและกัน
“วัตถุประสงค์แค่ต้องการติดตามว่าเครื่องอยู่ที่ไหนบ้างเพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วย รวมทั้งดูแลคนที่ operate เครื่องนั้นด้วยว่าต้องมีความรู้ มีการป้องกันให้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรข้างเคียง ซึ่งทางวิชาชีพฝึกสอนมาแล้ว ก็โอเค ผมมานั่งดูหลักสูตรแล้ว เดิมเราจะให้เขามาสอบ แต่ทางสภาวิชาชีพบอกว่าเขาดูแลได้ เราก็ให้การเคารพ” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
ด้าน รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า เครื่องมือทุกชนิด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ รังสีจะมากหรือน้อย เมื่อผลิตรังสีออกมา ตามกฎหมายก็ต้องขออนุญาต กฎหมายประเทศไหนก็ต้องขออนุญาต และโดยส่วนตัวแล้ว คงต้องไปดูในรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้งว่าหากไม่ต้องให้หมอฟันสอบ RSO แล้วจะขัดกฎหมายหรือไม่ เพราะขนาดผู้ที่เรียนทางด้านรังสีมาโดยตรงระดับปริญญาโท ปริญญาเอกก็ยังต้องไปสอบ ถ้ายกเว้นในกรณีแบบนี้ อาจจะมีปัญหากระทบไปถึงเรื่องอื่น
อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า 1 คลีนิกต้องมีเจ้าหน้าที่ RSO 1 คน แต่อาจใช้วิธีว่าใน 1 โซน ให้เจ้าหน้าที่ 1 คนคอยดูแลรับผิดชอบก็ได้
“สรุปว่าเครื่องตัวนี้ยังไงก็ต้องอยู่ในการดูแล ต่างประเทศก็กำกับดูแลแบบนี้ อย่างในสมัยก่อนก็เคยมีคลีนิกอยู่ในห้องแถว แล้วร้านติดกันเป็นร้านอาหาร แบบนี้มันไม่ถูก อย่างน้อยต้องมีคนดูแลตั้งแต่ติดตั้ง” รศ.นเรศร์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซัด พ.ร.บ.นิวเคลียร์ฉบับใหม่ไม่ฟังเสียงทันตแพทย์ ระบุ RSO ยิ่งทำให้หมอฟันงานมากขึ้น
- 5 views