รมว.วิทยาศาสตร์หารือผู้เชี่ยวชาญรังสี ประเด็นการดูแลเครื่องมือเอกซเรย์ฟัน สรุปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ออกใบอนุญาต ย้ำเวลาใช้ต้องใส่เสื้อเกราะทั้งคนไข้และคนฉาย

นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2560 รายงานว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้นัดหารือผู้เชี่ยวชาญทางรังสี ได้แก่ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะเทคนิคการแพทย์ นายกทันตแพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กฤษฎีกา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เกี่ยวกับการดูแลเครื่องเอกซเรย์และกำหนดเครื่องมือทางทันตกรรม ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภายหลังการประชุม รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด วท. กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว จะมีคนเดือดร้อน หรือปฏิบัติตามกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยที่จะให้เครื่องเอกซเรย์นั้นมีการควบคุม เพราะมีผลต่อคนใช้ คนปฏิบัติงานและผู้ป่วย โดยเฉพาะคนฉายรังสีจะมีผลกระทบมากกว่า เพราะต้องฉายอยู่ทุกครั้ง แต่คนป่วยที่มาใช้บริการเพียงครั้งเดียวแล้วก็กลับไป เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมตรงนี้

รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า การควบคุมเครื่องเอกซเรย์หรือเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้างและใช้ถูกต้องหรือไม่ โดยจะมีการควบคุมให้มาขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาต (license) ตอนนี้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไปดำเนินการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีรับเรื่องนี้ไปทั้งหมด เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งข้อมูลมาที่ ปส. ทุกคนเห็นด้วยกับข้อสรุปและกระบวนการนี้

นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า ขณะนี้ทางด้าน ปส.กำลังจัดทำระบบ ที่เป็นลักษณะของระบบใบอนุญาต เพื่อที่จะได้ดำเนินการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อย โดยไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านทาง ปส. เพียงแค่ส่งข้อมูลมาทางระบบออนไลน์ได้เลย เพื่อความสะดวกมากขึ้น อีกทั้ง 3 ฝ่าย ก็จะมีการร่วมมือ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย เช่น มีเรื่องของลักษณะของห้องปฏิบัติงานจะเป็นอย่างไร เวลาฉายคนไข้ต้องใส่เสื้อเกราะ รวมถึงคนฉายด้วย จะต้องวางท่ออะไรอย่างไร ซึ่งจะเป็นการร่วมมือที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้ ในส่วนของบทลงโทษ ก็จะมีการหาทางคุยกัน แล้วได้ไปพบช่องทางว่าจะใช้กระบวนการทางปกครองก่อน ก็คือ การตักเตือน จะไม่มีการส่งศาลโดยทันที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทันตแพทยสภาโวย ปลัด วท.ให้ข่าวเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่จริง ยันต้องออก กม.ยกเว้นเท่านั้น