ผลประชุมบอร์ดพลังงานนิวเคลียร์ฯ เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 จำนวน 6 ฉบับ พร้อมเห็นชอบไม่คุมเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมขนาดเล็ก หากมีความปลอดภัยกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพียงพอ แต่ต้องแจ้งครอบครอง พร้อมตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของเครื่อง และปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลไม่ยกเว้นต่อไป
นางอรรชกา สีบุญเรือง
นางสาวอัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ประชุมครั้งที่ 7/2560 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ประธาน) มอบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รองประธาน) เป็นประธานประชุมพร้อมด้วยกรรมการผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมครั้งนี้ คือ การพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ....
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดสารประกอบหรือสารผสมของยูเรเนียมหรือทอเรียม เพื่อให้สารประกอบหรือสารผสมนั้นเป็นวัสดุต้นกำลัง พ.ศ. ...
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดการดำเนินกิจการทางนิวเคลียร์ที่ต้องแจ้งต่อเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ...
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดศักยภาพทางเทคนิคของผู้ขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ พ.ศ. ...
5. ร่างประกาศคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเรื่อง การจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. ...
6. ร่างระเบียบคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเรื่อง การกำหนดการแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการดำเนินการแทนระหว่างผู้เข้าดำเนินการแทนและผู้รับใบอนุญาต พ.ศ. ....
นางสาวอัจฉรา วงศ์แสงจันทร์
นางสาวอัจฉรา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่นำเข้าหารือในการประชุมครั้งนี้ด้วย คือ การกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีที่กำลังมีปัญหากับทันตแพทย์ ซึ่งจากการประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ ปส.ทำหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อประกอบการยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป โดย สคก.ได้เสนอแนวทางโดยสรุปคือ สามารถยกเว้นการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีได้ หากลักษณะการใช้งานเครื่องมีความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยอย่างเพียงพอที่จะป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมและเพียงพอ มติที่ประชุมโดยสรุปเห็นชอบ ดังนี้
1. ยกเว้นการควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมชนิด intraoral ได้ โดยไม่หมายรวมถึงเครื่องชนิด hand-held เนื่องจากเครื่องชนิดนี้มีความเสี่ยงในการได้รับรังสีปริมาณสูง และมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยในการสูญหาย หรือถูกโจรกรรม
2. กำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติได้ เช่น กำหนดให้ต้องแจ้งการครอบครอง การตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดรังสี และกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จะมีผลทำให้เครื่องกำเนิดรังสีนั้นไม่ได้รับยกเว้นการควบคุม และส่งผลให้บุคคลที่ดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสีนั้นต้องได้รับใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมชนิด intraoral เป็นเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ที่ใช้ถ่ายภาพรังสีของฟันโดยใช้ฟิล์มหรือแผ่นรับภาพดิจิตอลใส่ในช่องปากผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดติดตั้งถาวร และชนิดเคลื่อนย้ายได้แบบมือถือ หรือที่เรียกว่า handheld โดยเครื่องประเภทนี้ยังไม่สามารถยกเว้นให้ได้ เนื่องจากผู้ใช้งานจะอยู่ติดกับตัวเครื่อง มีโอกาสรับรังสีกระเจิงในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยในการสูญหาย หรือถูกโจรกรรมอีกด้วย)
- 32 views