ปส.ยันยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ได้ ระบุกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ ยึดมาตรฐานความปลอดภัยตามทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
เนื่องจากกลุ่มทันตแพทย์ได้เรียกร้องให้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 โดยมีเหตุผลคือ เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม มีความปลอดภัยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาต และบทกำหนดโทษใน พ.ร.บ.รุนแรงเกินไป
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยว่า ปส.ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลกับกลุ่มทันตแพทย์เรื่อยมา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ คือ เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมเป็นเครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 ซึ่งมีค่าพลังงาน 60 - 120 keV (หรือค่าความต่างศักย์ของเครื่องกำเนิดรังสี 60 kV - 120 kV) ซึ่งสูงกว่าระดับการยกเว้นตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จึงจำเป็นต้องกำกับดูแลไม่สามารถยกเว้นให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 เห็นควรไม่ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นฯ เนื่องจากจะสร้างความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติกับการใช้เครื่องกำเนิดรังสีอื่นๆ ที่มีค่าความต่างศักย์ต่ำกว่า เช่น เครื่องตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก และเครื่องเอกซเรย์เต้านม (เครื่องแมมโมแกรม) เป็นต้น
ส่วนประเด็นการเรียกร้องให้เครื่องกำเนิดรังสีอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมาตรฐานของเครื่องและความปลอดภัยในการติดตั้งและใช้งานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นั้น ขอเรียนว่า พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการใช้เครื่องกำเนิดรังสีทุกประเภทในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม (เครื่องเอกซเรย์) โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางเทคนิคในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องให้เป็นไปตามมาตรฐาน (การควบคุมการใช้เครื่องกำเนิดรังสีเป็นอำนาจของ ปส. ซึ่งเดิมเป็นการควบคุมการใช้พลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2508)
ดร.อัจฉรา กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับอัตราโทษที่สูงเกินไป ขอชี้แจงว่าตาม พ.ร.บ.นี้ กรณีฝ่าฝืนครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสีโดยไม่ขอรับใบอนุญาตคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ขอรับใบอนุญาตในกฎหมายอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 : มาตรา 73 ผู้ใดครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ปส. จะอำนวยความสะดวกในทุกด้าน โดยจะพิจารณาให้บุคลากรใน 5 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เทคนิคการแพทย์ (เทคนิครังสี) และฟิสิกส์การแพทย์ ไม่ต้องสอบเพื่อรับอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) (เฉพาะระดับต้น และระดับกลาง) เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีความรู้ในด้านความปลอดภัยทางรังสีเหมาะสมกับการใช้เครื่องกำเนิดรังสีประเภทนั้นๆ แล้ว โดยการบังคับใช้กฎหมาย ทันตแพทย์ไม่ได้ต้องเสียผลประโยชน์ใด ๆ เพียงจ่ายค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม เป็นเงิน 1,000 บาท/เครื่อง/5 ปี เท่านั้น แต่ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ดร.อัจฉรา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี เมื่อครั้งที่มีการขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2549 ตามที่กำหนดไว้ในแบบความจำเป็นในการตรากฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดไว้ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ในขณะนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์), คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ, คณะกรรมาธิการพลังงาน เป็นต้น และในชั้น ครม. ได้มีการเวียนร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนการเสนอต่อ สนช. และเป็นไปตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ระบุชัดเจนให้มีการกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม รวมทั้งกฎหมายนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น
“ปส.ขอยืนยันว่า สุดท้ายนี้ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ประเทศไทยมีการกำกับดูแลความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยใช้หลักผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนจะได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลการครอบครอง ใช้ นำเข้า ส่งออก และผู้รับผิดชอบชัดเจน เพื่อป้องกันการสูญหาย และการนำไปใช้ในทางมิชอบ” เลขาธิการ ปส. กล่าว
- 51 views