"ฉุกเฉินวิกฤติ...มีสิทธิทุกที่"
เร่งประกาศนโยบายนี้ให้ทันสงกรานต์ เพื่อหวังจะลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุรุนแรง แต่มีข้อท้วงติงให้ตระหนักถึงผลกระทบอื่นที่อาจตามมา เช่น ความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ที่สื่อออกสู่สาธารณะในลักษณะที่เข้าใจได้ยาก แปลความได้หลายทางหลายแง่ จนอาจนำมาสู่ข้อพิพาทหน้างานระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตลอดจนอาจเป็นช่องทางหาประโยชน์ของผู้ไม่หวังดี และภาระค่าใช้จ่ายต่อประชาชน ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะหนี้ทั้งในและนอกระบบแบบจำยอม
ตั้งแต่ประกาศนโยบายออกไปเกือบสองสัปดาห์ ตัวเลขตามสื่อสาธารณะชี้ชัดว่า มีเพียงร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ส่งเรื่องมาในระบบฉุกเฉินเพื่อคัดกรองนั้นอยู่ในลักษณะภาวะฉุกเฉินวิกฤติ
นั่นแปลว่า กว่า 2 ใน 3 ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤติ ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น บาดเจ็บแล้วไปเข้ารับการรักษาที่เอกชนเพราะคาดหวังว่าสะดวกสบาย ได้มาตรฐาน และหวังว่ารัฐจะจ่ายให้หมด แต่สุดท้ายผิดคาด ค่าใช้จ่ายสูงเกินวงเงินคุ้มครอง ต้องรับผิดชอบเอง หรือแม้แต่จะกลับตัวไม่รักษา แต่หาที่รับส่งต่อไม่ได้เนื่องจากภาวะคอขวดในระบบรัฐ
หากวิเคราะห์การดำเนินนโยบายนี้ตามหลักจริยธรรมในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข หรือ public health ethics มีประเด็นที่รัฐควรตอบประชาชนดังนี้
1.นโยบายนี้ได้ผลตามที่มุ่งหวังตั้งแต่แรกหรือไม่ ? หากคิดว่าจะลดการตาย ลดได้จริงไหม ลดได้มากน้อยเพียงใด และต้องพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นผลจากนโยบายนี้...
2.การดำเนินนโยบายนี้เป็นไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ? ป.ล.ภายใต้ข้อมูลสถานการณ์ที่นำเสนอมาว่า มีเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนคัดกรองทั้งหมดเท่านั้นที่เป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ
3.ภายใต้หนทางที่เลือกใช้กฎหมายบังคับสถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกขนาด ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ดำเนินการดูแลรักษาภายใต้โครงสร้างค่ารักษาพยาบาลแบบเสื้อตัวเดียวใส่ได้ทุกคนนั้น มีหลักฐานใดที่บ่งบอกได้ว่า ผู้ป่วยได้รับการดำเนินการตามมาตรฐานเดียวกันทุกที่ ไม่เบี่ยงเบน และไม่เกิดความเสี่ยงต่อชีวิต
4.จากที่ประกาศนโยบายไปตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.2560 จนถึงบัดนี้ หากพิจารณาประเด็นเรื่องความมั่นคงยั่งยืนของระบบบริการดูแลรักษาพยาบาลและการเงินการคลัง รัฐตอบได้ไหมว่า หลังจากการประกาศไปนั้น ส่งผลต่อภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ของรัฐ และของประชาชนอย่างไรบ้าง ?
จะตอบเรื่องนี้ได้ รัฐต้องแม่นทั้งข้อมูลตนเอง และข้อมูลของคนอื่น แต่หลายต่อหลายคนที่คลุกคลีในระบบสุขภาพมานานยังไม่กล้าและไม่สามารถตอบได้ เชื่อแน่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยกังขา สงสัย และอยากเรียกร้องให้รัฐเปิดเผย เพื่อจะได้ร่วมกันช่วยคิด ช่วยเสนอแนะ และช่วยพัฒนา เพราะเรื่องสุขภาพประชาชนถือเป็นเรื่องสาธารณะ หมดสมัยแล้วกับการที่จะยกให้รัฐรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่ชี้มาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงตัวอย่างกรณีศึกษานโยบายฉุกเฉินวิกฤติ...มีสิทธิทุกที่
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ประเด็นจริยธรรมการดำเนินงานด้านสาธารณสุขนั้น ยังใช้ตั้งคำถามต่อนโยบายอื่นๆ ที่เป็นข่าวในช่วงนี้เช่นกัน ได้แก่
"เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ต้องสงสัยที่ปฏิเสธการเป่าลมหายใจตรวจ" อาจต้องมีความรัดกุมในการบังคับใช้ เพราะการเจาะเลือดนั้นถือเป็นหัตถการที่กระทำรุกล้ำต่อร่างกายคน กฎหมายที่จะบังคับใช้เพื่อกระทำการดังกล่าวนั้นควรชัดเจน และปกป้องทั้งคนถูกกระทำ และปกป้องผู้ปฏิบัติงานให้อย่างเป็นธรรม สร้างสมดุลให้ดี มิฉะนั้นอาจนำไปสู่ประเด็นฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิตามมา หรือแม้แต่ประเด็นความรับผิดชอบจากผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการเจาะเลือด
"สั่งการฟ้องร้องผู้ให้ข้อมูลตัวเลขการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐที่เป็นเท็จ"...ฟังดูเหมือนเป็นกลไกตอบโต้ และสั่งสอนให้หลาบจำ แต่หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า ปรากฏการณ์เผยแพร่ตัวเลขการขาดทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะไม่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง หากไม่มีความยากลำบากในหน้างาน และย่อมจะไม่เกิดขึ้นเลย หากข้อมูลตัวเลขจริงได้รับการประกาศจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ให้ประชาชนได้ร่วมกันรับรู้ ช่วยกันคิด และช่วยกันหาทางจัดการแก้ไขปัญหา...
เรื่องนี้ยังตอกย้ำว่า ดีไม่ดี คนในสังคมปัจจุบันมีความตื่นตัว อยากมีส่วนร่วม และโหยหาธรรมภิบาลของการบริหาร
ธรรมาภิบาลที่คนถวิลหานั้นประกอบด้วย ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วม การปฏิบัติตามฉันทามติ การตอบสนองและรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น การปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ประสิทธิภาพและความคุ้มค่า และความเป็นธรรม
หากผู้บริหารได้พิจารณา และให้ความสำคัญต่อประเด็นต่างๆ ดังกล่าวในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะไม่เห็นปรากฏการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นโยบายมากมายถูกผลักออกมา โดยใช้กระแสลมที่หนุนมาจากไหนไม่รู้ ในขณะที่ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะท้วงติง แนะนำ และ/หรือมีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาอย่างเพียงพอ
สัจธรรมของโลกคือ ลมนั้นเปลี่ยนทิศได้เสมอ เปรียบดั่งการเปลี่ยนหัวเปลี่ยนขั้วทีไร เหล่าคนที่เกี่ยวข้องก็มักถูกเปลี่ยน ระบบก็ถูกสังคายนา
แต่หากมั่นหมายกับประชาชนให้เหนียวแน่น สร้างความรักความหวงแหนและให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของในระบบ ต่อให้เปลี่ยนหัวเปลี่ยนขั้ว หรือลมจะเปลี่ยนทิศ เราก็ยังมีเพื่อนมากมายที่ช่วยกันทำนุบำรุงรักษาระบบ
ระบบสุขภาพของประเทศนั้นเป็นความมั่นคงของประเทศ จะอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืนได้ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของ มิใช่รัฐชงเอง เออเอง ทำเอง
รัก...จึงออกมาเตือน
ฤ ตอนนี้กระทรวง เอ๊ย "กระทง" กำลังหลงทาง?
โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
...วันนี้...เป็นวันสงกรานต์...
- 122 views