“หมอมงคล” ค้าน คสช.เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหาออกสิทธิบัตรล่าช้า ชี้เร่งออกไม่รอบคอบ กระทบยาแพง ยาที่ควรจะถูกลงแล้ว เพราะผูกขาดนานแล้ว ก็จะกลายเป็นเหมือนผีดิบ กลายเป็นสิทธิบัตรผีดิบ เพราะได้สิทธิบัตรไปต่ออายุผูกขาดอีก ทำให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน
นพ.มงคล ณ สงขลา
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความใน Facebook Mongkol Na Songkhla ระบุถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมอาศัยอำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้ากว่า 12,000 รายการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
โดย นพ.มงคล มีความเห็นค้านว่า อย่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อเร่งปล่อยสิทธิบัตรโดยไม่รอบคอบ เพราะจะส่งผลกระทบทำให้ยาแพง ซึ่งประเทศไทยเคยเผชิญปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2535 ที่รัฐบาลไทยถูกกดดันให้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และทำให้คนไทยต้องประสบปัญหายาราคาแพง และทำให้อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทยที่เคยก้าวหน้ากว่าอินเดีย ยุคนั้นไทยใช้ยาในประเทศถึง 60% และใช้ยานำเข้าเพียง 40% แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทยล้าหลังมาก ในขณะที่อินเดียเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และปัจจุบันไทยต้องใช้ยานำเข้ากว่า 70% ใช้ยาในประเทศเพียง 30%
“อย่าไปใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเร่งให้เร่งปล่อยผีแบบไม่รอบคอบเลยครับ เพราะถ้ายาที่ติดสิทธิบัตร ได้สิทธิบัตรเพิ่มขึ้นหลายๆตัวจากการปล่อยผีครั้งนี้ ราคายาจะไม่มีทางลดราคาลง ต่อรองก็ไม่ได้ผล ไอ้ยาที่ควรจะถูกลงแล้ว เพราะผูกขาดนานแล้ว ก็จะกลายเป็นเหมือนผีดิบ เพราะได้สิทธิบัตรไปต่ออายุผูกขาดอีก ก็จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ถ้างบไม่พอ สุดท้ายก็ตกหนักประชาชนต้องถูกบังคับร่วมจ่าย
อย่าไปพูดเลยครับว่า ยาได้สิทธิบัตรไม่เกี่ยวกับราคาแพง เพราะมันเกี่ยวพันโดยตรง แค่ผูกขาดผ่านช่วงตรวจสอบคุณภาพที่เรียกว่า SMPอย่างที่เคยเจอกับยาฟลูโคลนาโซล สลึงเดียว บริษัทยาก็ไม่ยอมลด พอเร่งตรวจให้พ้น SMP บริษัทไทยผลิตได้ด้วย จาก 60 กว่าบาท ลดฮวบเหลือเม็ดละไม่ถึง 5 บาท เพิ่งทราบว่า ช่วงนั้นผู้ติดเชื้อฯ ที่แอฟริกาใต้ตั้งกลุ่มมาซื้อที่ประเทศไทย เพราะที่นั่นขายเดละเป็นพัน ซื้อไปแล้วให้จงใจถูกจับที่สนามบินโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประจานการตั้งราคาบ้าเลือดขายผูกขาด
ระบายมายาวเพราะอัดอั้นจริงๆ อยากให้ คสช.คิดให้หนัก ทบทวนให้ดี อย่าพลาดปล่อย 'สิทธิบัตรผีดิบ' ออกมาเพ่นพ่านทำลายสังคมไทยเลย เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เอานักวิชาการ นักวิจัย ผู้รู้เข้าไปช่วยกันดู
บ้านเมืองเราเดินมาไกลมากแล้ว”
ข้อความทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้
“ไปลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียหลายวัน มันเป็นการไปเติมน้ำมันให้ตัวเอง ไปดูผลงานลูกๆ พยาบาล 3,000 คน เยี่ยมคนไข้ และไปชื่นชมผลงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ หากการไปนั้นจะมีส่วนในการให้กำลังใจคนในพื้นที่บ้าง สำหรับผมแล้ว ได้กำลังใจให้ตัวเองมากกว่า เพราะเมื่อกลับมาดูสถานการณ์บ้านเมือง หลายเรื่องทำให้กำลังกายและกำลังใจเสื่อมถอยมากทีเดียว
ไม่อยากพูดเรื่องที่สังคมแห่ให้ความสนใจกันอย่างมาก บางทีก็มากจนเกิน จนไปบดบังเรื่องสำคัญๆ อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่มีข่าวว่า คสช.จะใช้มาตรา 44 ในการเร่งออกสิทธิบัตร อันที่จริง เรื่องนี้สำคัญมากๆ ผลกระทบเยอะมาก สื่อมวลชนควรให้ความสนใจนำเสนอข้อมูลเจาะลึกใครได้ผลประโยชน์ ผลกระทบมีมากแค่ไหน เพื่อให้คนในสังคมร่วมติดตาม
สมัยก่อนเป็นแค่หมอบ้านนอก เรื่องสิทธิบัตรยา ก็ไม่ค่อยเข้าใจ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถึงแม้ อ.สำลี ใจดี และกลุ่มศึกษาปัญหายา จะออกมาคัดค้านที่รัฐบาลสหรัฐฯ กดดันให้ไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพื่อรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา โดยส่วนตัวก็เคารพรักงาน อ.สำลี แต่ไม่ได้คิดว่าเรื่องมันใกล้ตัว จนมาถึง ยุค รสช. รัฐบาลคุณอานันท์ ก็ยอมสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายให้สิทธิบัตรยา อ.สำลีก็ชวนชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท คปอส.โครงการเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ออกมาเดินรณรงค์บอกสังคมว่า ยามันจะแพงแน่ๆ คนจะเข้าไม่ถึงยา จะทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศ เป็นข่าวใหญ่ในปี 36
บอกตรงๆ ว่าตอนนั้น ยังไม่เชื่อซะทีเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านมา สิ่งที่คนทำงานด้านการเข้าถึงยาบอกไว้ก็เป็นจริง
ก่อนปี 35 อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทยก้าวหน้ากว่าอินเดียมาก เราใช้ยาในประเทศมากถึง 60%ใช้ยานำเข้า 40% แต่ปัจจุบันเราต้องพึ่งยานำเข้ามากถึง 70% ใช้ยาในประเทศแค่ 30% บริษัทยาในประเทศก็ทยอยล้มหายตายจาก ตอนที่ทำ CL ยังต้องไปนำเข้ายาจากอินเดีย ซึ่งตอนนี้มีศักยภาพผลิตโมเลกุลใหม่ๆ ยาใหม่ๆ ส่งขายทั่วโลกรวมทั้งประเทศรวยๆ ไปจนถึงผลิตวัตถุดิบทางยาส่งขายบริษัทข้ามชาติ
ตอนที่ได้ไปดูโรงงานเพื่อตรวจคุณภาพ ชัดเจนเลยว่า อินเดียได้ใช้ช่วงเวลา 10 กว่าปีก่อนแก้กฎหมายให้สิทธิบัตรยาตาม WTO พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของเขาอย่างเต็มที่ ชัดเจนว่า การให้สิทธิบัตรที่มันเกินไป ให้ง่ายไป มันทั้งทำลายนวัตกรรม อุตสาหกรรม และส่งผลกระทบกับประชาชน
ตอนที่จะประกาศซีแอล ทางทีมงานได้ขอข้อมูลไปทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ยาตัวนี้ๆ ติดสิทธิบัตรกี่ตัวอะไรบ้าง แต่ทางกรมฯ ไม่สามารถหาข้อมูลให้ได้ ซึ่งหากรัฐบาลอยากแก้ปัญหาสิทธิบัตร ควรเร่งพัฒนาฐานข้อมูลให้ผู้ที่จะผลิตยาชื่อสามัญจะได้มีข้อมูลเพื่อเตรียมผลิตยาเมื่อใกล้หมดสิทธิบัตร
อย่าไปใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเร่งให้เร่งปล่อยผีแบบไม่รอบคอบเลยครับ เพราะถ้ายาที่ติดสิทธิบัตร ได้สิทธิบัตรเพิ่มขึ้นหลายๆตัวจากการปล่อยผีครั้งนี้ ราคายาจะไม่มีทางลดราคาลง ต่อรองก็ไม่ได้ผล ไอ้ยาที่ควรจะถูกลงแล้ว เพราะผูกขาดนานแล้ว ก็จะกลายเป็นเหมือนผีดิบ เพราะได้สิทธิบัตรไปต่ออายุผูกขาดอีก ก็จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ถ้างบไม่พอ สุดท้ายก็ตกหนักประชาชนต้องถูกบังคับร่วมจ่าย
อย่าไปพูดเลยครับว่า ยาได้สิทธิบัตรไม่เกี่ยวกับราคาแพง เพราะมันเกี่ยวพันโดยตรง แค่ผูกขาดผ่านช่วงตรวจสอบคุณภาพที่เรียกว่า SMPอย่างที่เคยเจอกับยาฟลูโคลนาโซล สลึงเดียว บริษัทยาก็ไม่ยอมลด พอเร่งตรวจให้พ้น SMP บริษัทไทยผลิตได้ด้วย จาก 60 กว่าบาท ลดฮวบเหลือเม็ดละไม่ถึง 5 บาท เพิ่งทราบว่า ช่วงนั้นผู้ติดเชื้อฯ ที่แอฟริกาใต้ตั้งกลุ่มมาซื้อที่ประเทศไทย เพราะที่นั่นขายเดละเป็นพัน ซื้อไปแล้วให้จงใจถูกจับที่สนามบินโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประจานการตั้งราคาบ้าเลือดขายผูกขาด
ระบายมายาวเพราะอัดอั้นจริงๆ อยากให้ คสช.คิดให้หนัก ทบทวนให้ดี อย่าพลาดปล่อย 'สิทธิบัตรผีดิบ' ออกมาเพ่นพ่านทำลายสังคมไทยเลย เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เอานักวิชาการ นักวิจัย ผู้รู้เข้าไปช่วยกันดู
บ้านเมืองเราเดินมาไกลมากแล้ว”
- 17 views