ทีมเศรษฐกิจ นสพ.เดลินิวส์ : การเกิดขึ้นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล แม้จะนำมาด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยคาดว่า ในช่วงเวลาไม่นานจากนี้ จะมีผู้คนเดินทางเคลื่อนย้าย เข้า-ออก ในจังหวัดต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ชายแดนเพิ่มขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยว และแรงงานต่างด้าว ส่งผลต่อไปถึงผู้รับบริการด้านสาธารณสุข ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในกิจการทั้ง 13 ประเภท หากมีมากขึ้นย่อมส่งผลต่อปัญหาสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่ว่าไว้เสียแต่เนิ่น ๆ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ที่รับเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำแผนขึ้นมา เพื่อรองรับ โดยจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2560-2564 ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบ และทิศทางการทำงานด้านสาธารณสุขในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 4R คือ Ready, Response, Reduce Risk และ Restructure หรือแปลออกมาเป็น "การเตรียมพร้อม- ตอบโต้-ลดเสี่ยง และปรับเปลี่ยนโครงสร้าง"
เร่งพัฒนาสถานบริการ
สำหรับผลการทำงานที่ผ่านมา แยกออกเป็นเรื่องใหญ่ ๆ หลายส่วน เริ่มจากด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานบริการสุขภาพในจังหวัดเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยกระทรวงสาธารณสุข ลุยพัฒนาอาคาร สถานที่ และครุภัณฑ์ ใน 3 จังหวัดก่อน คือ ตาก สระแก้ว และสงขลา โดยจัดซื้อจัดจ้างอาคารผู้ป่วยนอก อาคารพักเจ้าหน้าที่ และอาคารพัสดุ-จ่ายกลาง รวม 6 รายการ ในปีงบประมาณ 59 เป็นเงินประมาณ 93 ล้านบาท และยังผูกพันงบประมาณปี 60-62 เป็นเงิน 340 ล้านบาท พร้อมจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ ทั้ง รถพยาบาลฉุกเฉิน รถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบดิจิตอล และครุภัณฑ์การแพทย์ ไปแล้วในปี 59 รวมเป็นวงเงินประมาณ 117 ล้านบาท
เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาได้จัดซื้อครุภัณฑ์และอุปกรณ์ให้กับด่านอาหารและยา ปาดังเบซาร์ ได้เพียง 45,350 บาท หรือคิดเป็น 10.9% เท่านั้น และผูกพันงบประมาณปี 2560 เป็นเงิน 369,150 บาท เนื่องจากรอการส่งมอบพื้นที่จากกรมศุลกากร เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ คาดว่าอาคารกรมศุลกากรจะสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบในเดือน พ.ย. 59
ตั้งคลินิกต้นแบบ 3 จังหวัด
อีกด้านหนึ่งได้เร่งจัดตั้งคลินิกต้นแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาความพร้อมของหน่วยบริการสาธารณสุขด้านการจัดบริการอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากประเภทกิจการต่าง ๆ จากอุตสาหกรรม
ขณะนี้ได้จัดตั้งคลินิกต้นแบบขึ้นแล้วใน 3 จังหวัด คือ
จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดหน่วยบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล
จังหวัดเชียงราย เป็นต้นแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมของหน่วยบริการสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
และที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาสถานประกอบการด้านการควบคุมโรคและความปลอดภัยจากการทำงานให้กับแรงงานไทยและต่างด้าว
ส่วนการจัดตั้งคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ปัจจุบันมีผู้เดินทางท่องเที่ยว และเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและภาวะอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยตอนนี้ได้ตั้งคลินิกดังกล่าวขึ้นใน 5 จังหวัด นั่นคือ ศูนย์หาดใหญ่นวรัตน์ จังหวัดสงขลา, โรงพยาบาลหนองคาย จังหวัดหนองคาย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และโรงพยาบาลมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เพื่อให้สถานบริการมีความพร้อมให้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงการตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองให้วัคซีน และการประเมินความเสี่ยงจากการเดินทางท่องเที่ยวด้วย
สารพัดปัญหาต้องแก้ไข
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังศึกษาสภาพปัญหาและปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด พบว่า ทุกจังหวัดยังไม่ทำเรื่องดังกล่าวในพื้นที่อย่างชัดเจน ส่วนเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ยังไม่มีความเข้าใจนโยบายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างเพียงพอ และไม่มีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพราะมีแต่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.) จะมุ่งเน้นด้านการสร้างรายได้ การลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ไม่มีแผนงานโครงการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดอย่างชัดเจน
สภาพปัญหาในพื้นที่ ยังพบการจัดการมูลฝอยที่มีปริมาณสูงมาก กำจัดไม่หมด และไม่ถูกสุขาภิบาล และยังพบปัญหาการทิ้งขยะข้ามชาติในบางจังหวัด
ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อ ระบบการรวบรวม การจัดเก็บ การขนส่ง และการกำจัดขยะติดเชื้อส่งให้เอกชนรับไปกำจัด ก็ยังไม่มีการติดตาม ควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ประจำและไป-กลับ ก็ไม่มีระบบควบคุมปริมาณและคุณภาพของแรงงาน สภาพแวดล้อมชุมชน หรือที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวไม่ถูกสุขลักษณะ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ส่วนการจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยการมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงในอนาคต เช่น เหตุรำคาญ ฝุ่น เสียง เขม่า ควัน และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากกระบวนการผลิตและการขนส่ง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมาย ตอนนี้พบว่า ยังไม่มีมาตรการควบคุม หรือบังคับใช้กฎหมายเป็นพิเศษที่จะรองรับการพัฒนาในพื้นที่
อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ควรได้รับข้อมูลนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่องและชัดเจน คู่กับการจัดทำฐานข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อรับรู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่ของตนเอง และมีส่วนร่วมกำหนดมาตรการ แนวทางในการจัดทำแผนการลดผลกระทบต่อสุขภาพ และควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด เพื่อรับผิดชอบ หรือสนับสนุนคณะอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (อสธจ.) เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำมาตรการและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็ว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
- 24 views