สธ.เร่งยกร่างยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดน รับนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะทำให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.ชนินันท์ สนธิไชย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา “สุขภาพประชากรข้ามชาติ” เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสยุค Thailand 4.0 ? เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หากโฟกัสแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนจะพบว่ามีประเด็นตั้งแต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปที่ไหน ค่าใช้จ่ายใครเป็นคนจ่าย หรือเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงอุปสรรคในการสื่อสาร รวมถึงตัวสถานพยาบาลเองที่ต้องพัฒนาศักยภาพให้รองรับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องขับเคลื่อนในอนาคต

นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ปี 2561 จะจัดตั้ง 3 จังหวัดและให้ครบ 10 จังหวัดในปี 2563 ก็มีประเด็นที่ต้องคำนึงคือโรคจากการทำงาน โดยจากสถิติโรคที่พบบ่อยในเขตอุตสาหกรรมคือโรคทางเดินหายใจ และอุบัติเหตุจากการทำงาน ประสาทหูเสื่อม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และโรคหัวใจ เพราะฉะนั้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอาจต้องมีการขยายบริการเพิ่มเติมเพื่อรองรับโรคจากการทำงานด้วย

ทั้งนี้ สนย.ได้ระดมสมองจากผู้แทนสาธารณสุขทั้ง 31 จังหวัดชายแดน และผู้แทนจากส่วนกลางจากกรมต่างๆ มาช่วยให้ความเห็นเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดนระยะที่ 3 ปี 2560-2564 ได้ข้อสรุปว่าจะมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการ 5 ยุทธศาสตร์ คือ

1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ซึ่งก็คือการพัฒนาสถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะการให้บริการที่เป็นมิตร ที่ผ่านมา สธ.ทำมาแล้วบางส่วน เช่น การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เป็นภาษาเพื่อนบ้าน การจัดหาล่าม หรือการฝึกอบรมภาษาให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แต่จะขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องและครอบคลุมในอนาคต

2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ก็คือการให้วัคซีน ที่ผ่านมามีการทำกิจกรรมแล้วในระดับหนึ่ง เช่น แรงงานในแคมป์ก่อสร้าง ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามแนะนำให้ไปรับวัคซีน รวมถึงการดูแลสุขภาพต่างๆ

3.ยุทธศาสตร์การจัดการสุขภาพประชากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ก็คือเรื่องของหลักประกันสุขภาพ หลังจากนี้จะเน้นให้ประชากรข้ามชาติมีประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น

4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขชายแดน

และ 5.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงานสาธารณสุขชายแดน

ทั้ง 2 ยุทธศาสตร์นี้เป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การมีตัวแทนสุขภาพเพื่อประสานงาน และสนับสนุนให้การทำงานคล่องตัว

“ร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะต่างจากร่างฉบับที่ 1 และ 2 คือมีการบูรณาการหลายภาคส่วนทำให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และพัฒนาให้เหมาะกับยุคสมัย ปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้รองรับ เช่น เพิ่มเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ สนย.จะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดและน่าจะช่วยให้สุขภาพของประชากรในพื้นที่ชายแดนดีขึ้นทุกคน” นพ.ชนินันท์กล่าว

ด้าน นายภาคภูมิ แสวงคำ จากมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของภาคประชาสังคมคืองบประมาณหลักๆ ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งกองทุนโรคในเรื่องโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียจะเริ่มลดลงในอนาคต เมื่อถูกลดงบประมาณ เอ็นจีโอก็เริ่มลดพื้นที่การทำงาน และส่งผลกระทบต่อการทำงานป้องกันควบคุมโรค

อย่างไรก็ดี ในส่วนของข้อเสนอแนะในการจัดการสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น ในประเด็นเรื่องการให้บริการที่เป็นมิตร ทางภาคประชาสังคมมองว่าการจัดบริการที่เป็นมิตรคือการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา ไม่ดูถูกรังเกียจกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำกับคนไทยอย่างไรก็ทำกับคนต่างชาติแบบนั้น ใช้มาตรฐานเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเสนอในเรื่องการส่งเสริมการตั้งกลุ่มด้านสุขภาพแรงงานเพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพกันเองในกลุ่ม เพราะในอนาคตถ้าเอ็นจีโอลดลดบทบาทลง กลุ่มเหล่านี้จะมีความสำคัญในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวด้วยกันเอง ในเรื่องนี้แรงงานเมียนมาร์เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะปัจจุบันมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือด้านสุขภาพระหว่างแรงงานด้วยกันเองกว่า 230 กลุ่มทั่วประเทศ