ธนาคารโลกเผยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยภาครัฐ เพิ่มกำลังบริโภคของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มประชากรรายได้น้อย ทำให้เกิดการขยายเศรษฐกิจประเทศ ยกต้นแบบ “ไทย” ประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขยายเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่รายงานองค์การอนามัยโลก ระบุหลังไทยเดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลโรคค่าใช้จ่ายสูงจาก 6.8 ปี 2539 เหลือ 2.8 ในปี 2551
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นักวิชาการจากธนาคารโลกได้เคยออกบทความเรื่อง “ความมั่นคงด้านสุขภาพ: มุมมองใหม่ของรายจ่ายด้านสุขภาพ ที่ใช้เป็นกลไกชี้วัดการเจริญเติบโตของประเทศพัฒนาที่เกิดใหม่” (Health Is Wealth: Health Care Spending As An Emerging Market Growth Engine) เมื่อปี 2556 ระบุถึงวิธีกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศกำลังพัฒนาที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากประการหนึ่งคือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยที่รัฐบาลรับภาระรายจ่ายด้านบริการสุขภาพแทนประชาชนผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนลดความกังวลของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยามเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคสินค้าจำเป็นอื่นๆ
ทั้งนี้ประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ประชาชนมีรายได้จำกัด แต่มีภาระรายจ่ายที่จำเป็นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าการศึกษาของเด็ก ค่ารักษาพยาบาล การเลี้ยงดูครอบครัว และเงินออมยามฉุกเฉิน เป็นต้น รายได้ส่วนใหญ่จึงถูกออมไว้รักษาตัวยามเจ็บป่วย การใช้จ่ายที่จำเป็นในส่วนอื่นของครัวเรือนจึงถูกจำกัดอิสระลง
ดังนั้นหากครัวเรือนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเหล่านี้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล โดยรัฐบาลรับผิดชอบดูแลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยรวม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่ได้ประโยชน์จากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า บทความนี้ยังได้ระบุถึงการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่เริ่มต้นในปี 2545 ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย พบว่าสัดส่วนของรายจ่ายในสินค้าพื้นฐานจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของครอบครัวชาวนาไทยในครอบครัวที่มีผู้ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงกับครอบครัวที่ไม่มีผู้ป่วยฯ นั้นไม่แตกต่างกัน เนื่องจากได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลแล้ว ขณะที่การศึกษาโดยองค์การอนามัยโลกยังพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ทำให้ค่ารักษาพยาบาลโรคค่าใช้จ่ายสูงลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2539 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี 2551 สอดคล้องกับข้อมูลระดับการบริโภคในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการบริโภคโดยรวมของประเทศที่สูงมากขึ้น พร้อมกันนี้ผู้เขียนบทความนี้ยังเห็นว่าการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงระดับอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ไม่สูงเกินไป
“บทความนี้ได้สรุปในตอนท้ายว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ระดับการบริโภคของผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนโดยรวมเพิ่มสูงมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น รายจ่ายด้านสุขภาพภาครัฐเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อการขยายตัวการบริโภคภายในประเทศ โดยประเทศที่มีรายจ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในการขยายตัวของการบริโภคมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐที่ยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 6 views