กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 62 ตำรายา ทั้งหมดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้มากในประเทศไทย เช่น ขมิ้นชันและยาแคปซูลขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจรและยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียงและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแห้ง ชาชงชุมเห็ดเทศ เพื่อใช้เป็นตำรายาอ้างอิงทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลทั้งการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออก
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำระบบการแพทย์ทางเลือกมาผสมผสานเพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดโรคสำหรับคนไทย ทำให้แนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นมูลค่าราวปีละ 14,000 ล้านบาท แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจในคุณภาพ และความปลอดภัยของยาสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือผลิตในโรงพยาบาล เนื่องจากยาสมุนไพรส่วนใหญ่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผลิตจึงมีโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อน โดยเฉพาะโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่วและ แคดเมี่ยม สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อรา และสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้ตำรายาต่างประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสมุนไพรที่มีปลูกเฉพาะในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มพัฒนา และจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร (Thai Herbal Pharmacopoeia/ THP) ตั้งแต่ปี 2532 โดยตำรายาดังกล่าวประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐาน ทั้งทางด้านเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชเวทและทางด้านเคมี-ฟิสิกส์ อีกทั้งข้อมูลด้านความปลอดภัย ขนาดการใช้ยาเบื้องต้น และการเก็บรักษาของยาสมุนไพรที่พบในประเทศ
นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงทำการจัดพิมพ์ Thai Herbal Pharmacopoeia 2016 ซึ่งเป็นฉบับรวมเล่มโดยได้รวมตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia/THP) ที่ได้จัดพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 1 - 4 และฉบับเพิ่มเติม 2 เล่ม รวม 49 ตำรายา (Monograph) ตลอดจนมาตรฐานยาสมุนไพรที่จัดทำขึ้นใหม่เพิ่มอีก 13 ตำรายา รวมทั้งสิ้น 62 ตำรายา ทั้งหมดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้มากในประเทศไทย เช่น ขมิ้นชันและยาแคปซูลขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจรและยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียงและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแห้ง ชาชงชุมเห็ดเทศ เป็นต้น
“ตำรายานี้จะเป็นตำรายาอ้างอิงทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนตำรับยา การควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลทั้งการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออก อีกทั้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล ป้องกันการปนปลอมยาสมุนไพรที่พบมากในปัจจุบันซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยาดังกล่าว รวมทั้งเป็นการลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ และเพิ่มการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
- 242 views