“หมอธีระ” อาจารย์แพทย์จุฬา ฟันธง หากเปลี่ยนให้ บ.ประกันมาดูแลค่ารักษาพยาบาล ไม่เพียงกระทบต่อข้าราชการและครอบครัว แต่จะกระทบกับโครงสร้างระบบสุขภาพ โดยเฉพาะสถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศที่จะเจ๊งแน่ เพราะจะไม่มีงบประมาณมาหล่อเลี้ยง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความพยายามในการเปลี่ยนระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการให้บริษัทประกันเป็นผู้ดูแลว่า เรื่องนี้จะกระทบกับคนวงกว้าง รวมถึงโครงสร้างระบบสุขภาพโดยรวม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มข้าราชการจำนวนหลายแสนคนเท่านั้น  ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมีความกระจ่างชัดในข้อมูลก่อนตัดสินใจ

นพ.ธีระ กล่าวว่า ถ้ามองเรื่องระบบสุขภาพปัจจุบันของประเทศไทยปัจจุบัน เป็นระบบที่สถานพยาบาลภาครัฐยังเป็นหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรวม และแม้ภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้นแต่ถ้าวิเคราะห์ดูจะพบว่า สถานพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่เลือกตลาดผู้ที่มีอันจะกินเป็นหลัก ด้วยเหตุผลด้านกำไรที่จะได้จากการให้บริการในกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มคนชนชั้นกลาง หรือ กลางล่าง หรือ ฐานล่าง ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของสถานพยาบาลเอกชนเท่าใด

ทั้งนี้ หากกรมบัญชีกลางให้บริษัทประกันเป็นคนจัดการ จะกระทบต่อ ประเด็นแรก คือ ต่อปรัชญาของคนที่มาเป็นข้าราชการ ที่ต้องการมารับใช้ประชาชน จึงมารับเงินเดือนที่ไม่มากเท่ากับเอกชน แต่คนกลุ่มนี้อาจพึ่งน้ำบ่อหน้ายามเจ็บป่วยเพื่อให้รัฐในฐานะนายจ้างได้ดูแลเขาและครอบครัว คอยฝากผีฝากไข้ให้ได้ ฉะนั้น ปรัชญาตั้งต้นมันก็เหมือนกับว่า ตัวนายจ้างเองควรดูแลลูกจ้าง ไม่ควรผลักภาระไปให้ประสบปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะในหนทางที่ยังไม่ชัดเจนว่าดีต่อตัวเขาอย่างไร 

ประเด็นที่สอง การที่พุ่งเป้าตั้งแต่ต้นว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลง ถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากดูข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลกพบว่า  ไม่มีทางเลยที่จะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ด้วยเหตุผล สองอย่าง 

1. ประชากรแก่ตัวขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศทั่วโลก ความแก่บอกถึงความเสื่อมถอยของสุขภาพร่างกายของคนเรา แม้ว่าจะดูแลตัวเองดีแค่ไหนแต่ก็ยังเป็นปัญหาเหมือนกัน ฉะนั้น โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการเสื่อมถอยของสภาพร่างกายก็มาเป็นเงาตามตัว หมายความว่า ภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการดูแลสุขภาพก็เพิ่มขึ้น 

2. ลักษณะการรักษาพยาบาล ทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือ เรื่องของยา วัคซีน การตรวจต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตยาหรือ วัคซีน หรือ เทคโนโลยีเอง แต่ประเทศตะวันตกเป็นคนพัฒนาขึ้นมาก่อน ค่าใช้จ่ายโดยพื้นฐานในการลงทุนเพื่อสร้างยา วัคซีน เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จึงแพงมาก

3. ที่หลายคนไม่ได้พูดถึงคือ ระบบการจัดการสมัยใหม่แม้มันดี และดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับการเก็บค่าต๋ง หรือ ค่าบริหารจัดการ เช่น เรื่องการมีพ่อค้าคนกลางที่เอาสินค้าจากแหล่งผลิตมาเสนอขายกับผู้บริโภคโดยที่ผ่านการจัดการสมัยใหม่ ผ่านการปรับแต่งหน้าร้านให้เป็นช่องทางที่คนเข้าถึงได้ง่ายก็จะบวกค่าบริหารจัดการ จึงเกิดผลกระทบว่า การบริหารจัดการสมัยใหม่แม้มันดีก็จริง แต่ก็มีผลอีกแง่หนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

“หากเราเอา private company มาจัดการสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจึงต้องระวังอย่างยิ่งว่า จะเกิดผลกระทบตามมา คือ private company เขาเป็นบริษัทห้างร้านที่หวังผลกำไร ต่างจากข้าราชการที่มุ่งเพื่อประชาชน” นพ.ธีระ กล่าว

นพ.ธีระ กล่าวว่า ภาครัฐแทนที่จะดูแลสวัสดิการให้กับลูกจ้างตัวเอง แต่กลายเป็นว่า กลับจะผลักไปให้เอกชนมาดูแล แล้วเอกชนดังกล่าวเป็นมืออาชีพมากในด้านประกัน ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจว่า บริษัทประกันเหล่านั้นเป็นห้างร้านที่ประกอบกิจการเพื่อหวังผลกำไร และแต่ละปีที่ผ่านมา เขาย่อมต้องการกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสวนกระแสกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่มันโป่งขึ้น

นอกจากนี้หากรัฐไปตั้งต้นโดยตีกรอบว่า งบประมาณสำหรับดูแลสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการต้องไม่เกิน 6 หมื่้นล้านบาทต่อปี ก็ยิ่งผิด ตอกย้ำให้เห็นว่า เรามองเห็นทางอันมืดมนหรือลงเหวลึกแน่นอน เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะลดงบประมาณด้านนี้ลง แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือ การกอบโกยประโยชน์ เท่ากับว่า ข้าราชการและครอบครัว จะได้รับผลกระทบแน่ๆ 

นพ.ธีระ ย้ำถึงผลกระทบว่า หากให้บริษัทประกันมาดูแล จะทำให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการทำได้อย่างลำบากขึ้น แม้ว่าจะกำหนดให้มีมาตรฐานการเบิกจ่าย สุดท้ายก็มีเทคนิคในการจัดการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้กลไกในการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หลายขั้นตอนจนกว่าจะอนุมัติเบิกจ่ายได้ 

“สิ่งที่จะเกิดผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้รับบริการ คือ ข้าราชการและครอบครัว แต่ก็กระทบต่อสถานพยาบาลภาครัฐเพราะนี่คือ 1 ใน 3 กองทุนด้านสุขภาพ ในการหล่อเลี้ยงให้สถานพยาบาลภาครัฐที่ดูแลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่รอดหรือมีลมหายใจอยู่ได้ ตรงนี้ โรงพยาบาลภาครัฐ ไม่ใช่จะแค่เจ๊งอย่างเดียว คนมันก็อยู่ไม่ได้ คือ บุคลากรที่อยู่ได้ด้วยใจก็จะเกิดปัญหาผลกระทบต่อชีวิตเขามากมาย สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่ หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ แต่หมายถึงคนที่อยู่มในองค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบัญชี การเงิน แม่บ้าน” นพ.ธีระ กล่าว