หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “เชื้อดื้อยา” กันมาบ้าง มันคือเชื้ออะไร ส่งผลกับคนเราอย่างไร และที่สำคัญเชื้อดื้อยา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย
เชื้อดื้อยา ในที่นี้หมายถึง เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้คนที่ติดเชื้อดื้อยาต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้แรงขึ้น หรืออาจไม่มียาปฏิชีวนะใดรักษาได้ ทำให้คนที่ติดเชื้อดื้อยานั้นเสียชีวิตลง ประเทศไทยมีคนติดเชื้อดื้อยากว่า 100,000 คนต่อปี มูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี อัตราการเสียชีวิต 38,481 รายต่อปี ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2,539 – 6,084 ล้านบาทต่อปี
เชื้อดื้อยา เป็นกลไกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการแบ่งตัวของแบคทีเรีย การเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) หรือการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันระหว่างแบคทีเรีย เช่น กระบวนการ conjugation ที่มีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างแบคทีเรีย ซึ่งเป็นผลดีต่อการอยู่รอดของแบคทีเรีย กลไกของการเกิดเชื้อดื้อยา เช่น
เชื้อมีการผลิต Beta – lactamase ซึ่งเชื้อผลิตขึ้นมาทำลายโครงสร้างของยากลุ่ม Beta – lactam หรือการสร้าง Efflux pump เพื่อปั๊มยาออกจากเซลล์ของเชื้อ ยาจึงไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ หรือการเปลี่ยนแปลงเยื่อหุ้มเซลล์ด้านนอกของเชื้อทำให้ยาไม่สามารถเข้าไปฆ่าเชื้อได้
การดื้อยาของประชาชนนั้น สาเหตุหลักที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล โดยจากการรวบรวมข้อมูลมีพฤติกรรมของคนไทยที่มีส่วนที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ดังนี้
1.ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น
ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา เห็นเพื่อนบ้านกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อบางอย่างแล้วได้ผล จึงจดจำข้อมูลยาและอาการนั้นไปซื้อยาปฏิชีวนะนั้นมากินเอง
2.หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น
ส่วนใหญ่มักจะคิดไปเองว่า เมื่ออาการป่วยดีขึ้นแล้ว ก็สามารถหยุดยาปฏิชีวนะนั้นลงได้เอง เก็บยาที่เหลือไว้ที่บ้าน เมื่อป่วยครั้งต่อไป อาการคล้ายๆ เดิม ก็นำยาเดิมที่เก็บไว้ มารับประทานต่อ ทำให้แต่ละครั้งรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบขนาดของการรักษา
3.ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์จากครั้งก่อนๆ
เมื่อมีอาการป่วยใหม่ก็จะจดจำว่า เคยกินยาปฏิชีวนะตัวเดิมแล้วได้ผล จึงไปแสวงหายาปฏิชีวนะชนิดเดิมที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการเจ็บป่วยในแต่ละครั้งนั้น ความจริงแล้ว ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทุกครั้งไป
4.อมยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ
ยาอมในท้องตลาดที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เช่น นีโอมัยซิน บาซีทราซิน ซึ่งยาปฏิชีวนะทั้งสองนี้ ผสมลงไปในยาอมในปริมาณที่น้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
5.แกะแคปซูลยาปฏิชีวนะโรยแผล
เป็นความเชื่อที่มีการนำเอายาปฏิชีวนะที่บรรจุในแคปซูล หรือแบบเม็ดมาบดละเอียด แล้วนำผงยานั้นมาโรยบนแผลที่ผิวหนัง ร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะนั้น แต่การดูดซึมยาที่ผิวหนังนั้นดูดซึมได้น้อย หรือแทบจะไม่ดูดซึมได้เลย
6.ใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์
การเลี้ยงสัตว์แล้วผสมยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์นั้น ทำให้พบปริมาณยาปฏิชีวนะตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ ถึงแม้เนื้อสัตว์นั้นจะถูกปรุงให้สุกแล้วก็ตาม ทำให้คนที่กินอาหารนั้นก็ได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปในร่างกายด้วย ซึ่งขนาดที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อในร่างกายคน จึงก่อให้เกิดเชื้อดื้อยานคนนั้นขึ้นมาได้
7.เปลี่ยนไปซื้อยาปฏิชีวนะที่แรงกว่ากินเอง
การกินยาปฏิชีวนะโดยไม่ต่อเนื่อง เพราะเปลี่ยนไปซื้อยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ที่แรงขึ้นจะทำให้ได้รับยาไม่ครบขนาดของการรักษา
8.เพิกเฉยต่อการให้คำแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสม
กินยาปฏิชีวนะตามความคิด ความรู้สึกของตนเอง โดยไม่อ่านรายละเอียดของฉลาก เอกสารกำกับยา และคำอธิบายการใช้ยาของบุคลากรทางการแพทย์
9.ซื้อยาแก้อักเสบกินเองตามความเข้าใจ เมื่อมีอาการปวดอักเสบ
อาการปวดอักเสบ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มีความเข้าใจผิดจึงกินหาซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง
10.ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ทราบชื่อสามัญของยา
ส่วนใหญ่จะจดจำแต่ชื่อทางการค้าของยา โดยไม่จำชื่อสามัญทางยาเลย ทำให้ไม่รู้ว่า ยาชื่อการค้าคนละชื่อ แท้จริงแล้วคือยาปฏิชีวนะตัวเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อการได้รับยาซ้ำซ้อน กินยาเกิดขนาดได้
เอกสารอ้างอิง
http://atb-aware.thaidrugwatch.org/
เอกสารสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 8 วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ
- 375 views