ผู้แทน ก.กลาโหม เผย ผู้บังคับบัญชาทหารทุกระดับชั้น ฝากค้าน ก.คลัง โอนกองทุนรักษาพยาบาล ขรก.สู่ประกันเอกชน ระบุไม่ยอมรับระบบธุรกิจเข้าดูแลสวัสดิการ ชี้เป็นองค์กรขัดแย้งผลประโยชน์ทับซ้อน เสี่ยงกระทบข้าราชการเกษียณ บำนาญน้อย แถมกระทบขวัญกำลังใจทหาร เผยไม่มีประเทศใดในโลก ยกกองทุนรักษาพยาบาลรัฐให้เอกชนบริหาร แนะกรมบัญชีกลาง ตั้ง คกก. หรือองค์กรใหม่ร่วมบริหาร หรือมอบองค์กรที่ดำเนินงานด้านนี้
ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง – ในเวทีระดมความเห็นเรื่อง “การนำระบบประกันสุขภาพมาใช้แทนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน” จัดโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร
พล.ท.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในฐานะผู้แทนกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้รับมอบจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บังคับบัญชากระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นตัวแทนมาเสนอความเห็น ซึ่งจากข้อมูลการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการ เมื่อดูโครงสร้างอายุจะพบว่า ในกลุ่มอายุระหว่าง 40-60 ปี จะมีจำนวนที่โป่งมากและเป็นฐานใหญ่ ทั้งสัดส่วนผู้สูงอายุยังขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการบำนาญ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรในยุคเบบี้บูมที่อายุเลื่อนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าระบบประกันสุขภาพอื่น ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
ขณะที่ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งความเจริญด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ อุตสาหกรรมยา รวมถึงจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงการรักษามากกว่าในอดีต รวมถึงการพัฒนาด้านระบบออนไลน์ อินเตอร์เน็ตที่นำมาสู่ระบบการเบิกจ่ายตรง ส่งผลให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีรายได้ไม่มากเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีความกังวลต้องใช้เงินสำรองจ่ายไปก่อน และกว่าจะรอตกเบิกได้ต้องใช้เวลา 4-5 เดือน จึงต้องการยาไม่มากและราคาไม่แพง และด้วยระบบนี้ยังส่งผลให้ รพ.รัฐมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น จึงขยายความสามารถในบริการได้อีก ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเป็นข้อเท็จจริงเพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่พัฒนาระบบสุขภาพแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพลดลงได้
พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวว่า การดำเนินงานของโรงพยาบาลรัฐ ทั้งโรงเรียนแพทย์ หรือแม้แต่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเอง ด้วยเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคมที่จำกัด การบริหารจำเป็นต้องพึ่งพาทั้งระบบ โดยเฉพาะกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ที่ทำให้โรงพยาบาลมีเงินกระแสหมุนเวียนอยู่ได้ แต่หากให้บริษัทประกันเอกชนมาบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้งบประมาณที่ลงสู่โรงพยาบาลลดลง จะส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องและอาจต้องยุติการให้บริการคนไข้ได้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าเราใช้เงินในระบบสุขภาพมากไป เมื่อดูข้อมูลปี 2557 ประเทศไทยใช้เงินในระบบสุขภาพที่ร้อยละ 6.5 ของจีดีพี ซึ่งค่าเฉลี่ยกลางในระดับสากลอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ของจีดีพี ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว อย่างกลุ่มประเทศอียูอยู่ที่ร้อยละ 10 และสหรัฐฯ แคนนาดาอยู่ที่ร้อยละ 16 ของจีดีพี สะท้อนว่านอกจากไม่ได้ใช้เกินแล้ว ที่ผ่านมายังระบบสุขภาพไทยยัได้รับคำชมจากเวทีโลก
“ในโลกนี้ประเทศที่มีการจัดระบบประกันสุขภาพ แม้แต่ประเทศประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ อังกฤษ จะมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ และไม่เคยมีการยกให้เอกชนดำเนินการเลย และจากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นนี้เพื่อชี้ว่าระบบสุขภาพเรายังสามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งโรงพยาบาลรัฐต้องพึ่งพาทั้ง 3 กองทุน นอกจากในแง่งบประมาณแล้วยังต้องคำนึงถึงอัตราการรักษาและการรอดชีวิตผู้ป่วย” ผู้แทนกระทรวงกลาโหม กล่าวและว่า ทางออกจึงเสนอให้มีการปรับระบบ หากเบิกจ่ายตรงซึ่งทำให้คนเข้าถึงบริการเพิ่ม ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นก็ควรแก้ไขตรงนี้ ไม่ใช่ไปล้มระบบ
พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวว่า เรื่องระบบบริการสุขภาพ ประเด็นสำคัญไม่เพียงแต่คงสิทธิประโยชน์การรักษาเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการขยายบริการทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง คำถามคือตรงนี้จะทำอย่างไร และเรื่องนี้หากให้ธุรกิจเอกชนดำเนินการคงไม่สามารถทำได้เพราะเป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ต้องแสวงหากำไร อีกทั้งมองว่าค่าใช้จ่ายในทางการแพทย์ไม่มีทางที่จะทำให้หดตัวลงได้ เนื่องจากมีทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำได้เพียงแต่การชะลอการเพิ่มให้ช้าลงเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย
“ข้อห่วงใยของข้าราชการกระทรวงกลาโหม คือในส่วนของข้าราชการเกษียณอายุ รับบำนาญ นอกจากมีปัญหาสุขภาพแล้ว รายได้เงินบำนาญยังไม่มาก อีกทั้งภารกิจของทหารคือต้องการขวัญกำลังใจ การดูแลครอบครัวที่ดี โดยเฉพาะพ่อแม่ ดังนั้นเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับจึงฝากมาบอกว่า เราไม่มั่นใจในการยอมรับระบบธุรกิจให้มาดูแลระบบสวัสดิการของพวกเรา” ผู้แทนกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.นพ.ถนอม กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกในการแก้ไขปัญหานี้ คือ กรมบัญชีกลางจะยังคงดูแลกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการต่อ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อช่วยกันพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบ เชื่อว่าทุกฝ่ายคงยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ แต่หากจะยังคงเดินหน้านำกองทุนเข้าถึงระบบประกันเอกชนต่อเชื่อว่าจะก่อให้เกิดปัญหาแน่
นอกจากนี้กรมบัญชีกลางอาจใช้องค์กรที่มีอยู่แล้ว หรือจัดตั้งองค์กรใหม่ในการบริหารและควบคุม ซึ่งกรณีของกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น (อปท.) เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ซึ่งปัจจุบันหลังให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ ซึ่งเป็นองค์กรไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สามารถลดค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยเหลือเพียง 6,000-7,000 บาท โดยมีค่าบริหารจัดการกองทุนเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น โดยที่สิทธิประโยชน์ยังเป็นเหมือนเดิม
- 6 views