รพ.พระมงกุฎฯ ห่วงสถานการณ์กรมบัญชีกลางรัดเข็มขัด คุมเข้มเบิกจ่ายรักษา ขรก. ส่อสภาพการเงิน รพ.ใหญ่- ร.ร.แพทย์ ฝืดเคือง หวั่นอนาคตกระทบหนัก ย้อนทำลายระบบสุขภาพประเทศ เหตุงบ สปส.-บัตรทอง รัฐจัดสรรหมิ่นเหม่ รพ.ใช้รายได้รักษาสิทธิ ขรก.ช่วยหนุน เชื่อมโยง 3 ระบบสุขภาพ แนะรัฐบาลแก้ปัญหา เพิ่มบประมาณช่วยสภาพคล่อง รพ.
พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร
พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการของกรมบัญชีกลางว่า ขณะนี้การขันน๊อตของกรมบัญชีกลางเริ่มแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สภาพคล่อง โดยเฉพาะ รพ.ใหญ่และโรงเรียนแพทย์เริ่มเหือดแห้ง เป็นที่ทราบดีว่าทั้งระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีการตั้งงบประมาณแบบประหยัดมาก ผลประกอบการของ รพ.ในการดูแลผู้มีสิทธิ์ทั้ง 2 ระบบจึงไม่ค่อยเหลือ การที่ รพ.ยังให้บริการต่อมาได้ เพราะด้วยผลประกอบการจากรักษาพยาบาลคนไข้ในระบบสวัสดิการข้าราชการ
แม้ว่ากรมบัญชีกลางมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เพราะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากกว่ากองทุนอื่น แต่ส่วนตัวกลับมองว่าผลประกอบการที่ รพ.ได้จากกรมบัญชีกลางนี้ นอกจากช่วยให้ รพ.มีสภาพคล่องแล้ว ประโยชน์ที่เกิดขึ้นยังกระจายสู่คนไข้ทุกระบบ เนื่องจาก รพ.จะนำรายได้มาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่คนไข้ทุกคนไม่ว่าระบบใดมีสิทธิใช้ได้หมด และไม่เคยมี รพ.ใดเขียนติดไว้ว่า ห้ามใช้กับผู้ป่วยประกันสังคมหรือบัตรทอง แต่เมื่อกรมบัญชีกลางมีการควบคุมการเบิกจ่ายที่เข้มงวด จึงส่งผลให้ รพ.จึงเกิดภาวะเงินตึงตัว ทำงานยากขึ้น จากสภาพคล่องที่ฝืดเคือง
ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากถามว่าเวรกรรมจะตกไปที่ใคร คงตกกับประชาชนทุกคนที่มารับบริการยัง รพ. เพราะในที่สุดโรงพยาบาลคงต้องเลือกตัดบริการในส่วนที่สร้างปัญหาให้กับ รพ.มากที่สุด ดังนั้นหากกรมบัญชีกลางมองให้ลึกซื้ง จะเห็นได้ว่าผลประกอบการที่ รพ.ได้จากกรมบัญชีกลาง ได้ลงมาเลี้ยงดูแลคนไข้อีก 2 ระบบที่มีการตั้งงบประมาณหมิ่นเหม่ หรือไม่ รพ.ก็ขาดทุนในกรณีคนไข้ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่ง รพ.รัฐขนาดใหญ่ และโรงเรียนแพทย์ต้องรับภาระหนัก เพราะการเคลื่อนไหวของคนไข้ค่าใช้จ่ายสูง ทิศทางคือพุ่งสู่ รพ.รัฐขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์
พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ที่น่ากังวลคือการกดดันควบคุมงบประมาณที่มากเกินไป จะทำให้ รพ.เกิดภาวะฝืดเคืองอย่างหนักและในท้ายที่สุดผลเสียจะย้อนกลับมาทำลายทั้งระบบสุขภาพประเทศได้ ทางออกขณะนี้จึงควรเดินทางสายกลาง เมื่อระบบสวัสดิการข้าราชการถูกรัดเข็มขัดมากขึ้น เข็มขัดของระบบประกันสังคมและบัตรทองก็ต้องคลายลง แต่ด้วยฐานจำนวนผู้มีสิทธิที่ใหญ่มาก เมื่อมีการขยับเพิ่มงบรายหัว ตัวเลขที่ปรับเพิ่มรัฐบาลก็มักตกใจ แม้ว่าที่ผ่านมางบประมาณส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีการปรับเพิ่มเพียงปีละนิดเท่านั้น ไม่เพียงพอ
ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณปัญหาจากการคุมเข้มค่ารักษาของกรมบัญชีกลางแล้วหรือไม่ พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ที่เห็นชัดเจนคือตอนนี้กรมบัญชีกลางคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดทุกอย่าง กวดขันการเบิกจ่ายทุกเรื่อง เรียกว่าดุเดือดมากทีเดียว ตั้งแต่การกำหนดการใช้ยา การตั้งราคากลาง การควบคุมการตรวจโดยห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ส่งผลต่อรายได้ของ รพ. อาทิ ก่อนหน้านี้ รพ.มีอิสระเลือกใช้ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนทำให้ผลประกอบการ รพ.เพิ่มขึ้น แต่เมื่อถูกจำกัดการใช้ยาเฉพาะที่กำหนด รายได้ รพ.จึงลดลงไปด้วย
ตัวอย่างเช่น จากเดิม รพ.เคยจ่ายยาเม็ดละ 10 บาท แต่ปัจจุบันถูกกำหนดให้ใช้ยาเม็ดละ 2-3 บาท รายได้ส่วนแบ่งที่ รพ.เคยได้รับจึงลดลงไปอย่างมาก เป็นต้น สถานการณ์นี้ดีต่อกรมบัญชีกลางเพราะทำให้เสียเงินน้อยลง แต่เมื่อการดูแลผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและบัตรทอง รพ.ไม่เหลือผลประกอบการเท่าไหร่
“คำถามที่เกิดขึ้นคือ รพ.รัฐจะทำอย่างไรหากไม่มีรายได้เพียงพอ เมื่อเกิดผลกระทบมาก ในที่สุด รพ.คงต้องลดบริการในส่วนที่ขาดทุนลง อย่างการจำกัดจำนวนคนไข้ระบบประกันสังคมและบัตรทอง สวนทางกับสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้น โดย รพ.ต้องมีการขยายบริการเพื่อรองรับ”
ส่วนการเปิดคลินิกพิเศษเพื่อเพิ่มรายได้นั้น พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า เป็นการหารายได้ของ รพ.ในรูปแบบหนึ่ง แต่การเปิดคลินิกพิเศษนี้ต้องดูด้วยว่า ผู้ป่วยที่มารับบริการเป็นการใช้สิทธิประกันสังคมหรือบัตรทองหรือไม่ เพราะการรับบริการนอกเวลา แน่นอนย่อมมีส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องจ่ายมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา รพ.รัฐขนาดใหญ่ และโรงเรียนแพทย์ได้มีการหารือเพื่อสะท้อนปัญหาไปยังกรมบัญชีกลางและรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า มีความพยายามที่จะร่วมกันเสนอปัญหาตลอด เพื่อขอการสนับสนุนงบประมาณ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการเปิดการเรียนการสอนที่ต้องใช้งบประมาณเช่นกัน ซึ่งหากผลประกอบการไม่ดีพอ อาจต้องมีการจัดเก็บค่าเรียนกับผู้ที่เข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การแก้ปัญหาของกรมบัญชีกลางเพื่อประหยัดงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ผลลัพธ์จากนี้จะกระทบกับระบบทั้งหมด เพราะกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบต่างเชื่อมโยงกัน และการจะบีบค่ารักษาพยาบาลต่อหัวของข้าราชการให้เท่ากับประกันสังคมและบัตรทองนั้น ถือเป็นแนวทางไม่ถูกต้อง เพราะแม้ว่าข้าราชการจะมีอัตราค่ารักษาต่อหัวสูงที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ยังมีอัตราที่ต่ำกว่ากันอยู่มาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มงบประมาณทั้ง 2 ระบบให้เทียบเท่ากับสวัสดิการข้าราชการมากกว่า
“ขณะนี้รายได้ของ รพ.รัฐขนาดใหญ่ และโรงเรียนแพทย์อยู่ในภาวะที่ตึงมากทีเดียว หากถามว่าสมควรที่จะทำแบบนี้มั้ย เพราะเมื่อมองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยอยู่ที่ร้อยละ 15 ของงบค่าใช้จ่ายประเทศ หรือ 4.3 ของจีดีพีประเทศ โดยรัฐบาลยังปล่อยให้ระบบมีสภาพคล่องมากกว่านี้ได้ ขณะที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงบประมาณที่เข้าสู่ระบบจึงควรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าว
- 197 views