เวทีประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้อง ISPD สะท้อนศักยภาพไทย พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยไตล้างไตผ่านช่องท้อง ช่วยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษาทั่วถึง อัตราติดเชื้อช่องท้องลดลงต่อเนื่อง พร้อมเปิดผลการศึกษาเปรียบเทียบอัตราติดเชื้อช่องท้องแต่ละประเทศ พบอัตราติดเชื้อทางช่องท้องไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อังกฤษ ซ้ำใช้งบดูแลต่อผู้ป่วยน้อยกว่า

พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือ International Society of Peritoneal Dialysis (ISPD) 2018 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 1,300 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis หรือ PD) และปีนี้มีความพิเศษโดยสมาคมฯ เปิดให้ผู้ป่วยโรคไตที่ล้างไตผ่านช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD) เข้าร่วมประชุมครั้งนี้

ในเวทีการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยโรคไตในแต่ละประเทศ พบว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มนำการล้างไตผ่านช่องท้องมาดูแลผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการล้างไตผ่านเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะสามารถล้างไตได้เองที่บ้าน ทั้งอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องลดลง ที่เป็นผลจากระบบที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องให้มีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น

พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบรรจุสิทธิประโยขน์การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ได้นำการล้างไตผ่านช่องท้องมาดูแลป่วยโรคไตในระบบ พร้อมพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ในการประชุม ISPD ครั้งนี้ นายไซมอน เดวิส (Mr. Simon Davies) อดีตประธาน ISPD แพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งรับมอบรางวัล Oeropoulos Lecturers (รางวัลเพื่อระลึกถึง Demitrios Preopoulos ผู้บุกเบิกการล้างไตผ่านช่องท้อง) ได้กล่าวยกย่องประเทศไทยที่ได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ไม่เพียงผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง แต่ยังลดอัตราการติดเชื้อลงทางช่องท้องอย่างเห็นได้ชัดเจน

โดยมีข้อมูลรายงานการศึกษาของ รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พบว่าอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจาก 28.2 เดือนต่อครั้งในปี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 31.2 เดือนต่อครั้งในปี 2559 ดีกว่าค่ามาตรฐานการดูแลภาวะอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง มีค่ามากกว่า 24 เดือนต่อครั้ง

นอกจากนี้ในการประชุมได้พูดถึงปัญหาคุณภาพบริการศูนย์ล้างไตผ่านช่องท้อง โดย นายเดวิด จอห์นสัน จาก Princess Hospital, Brisbane, Australia ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบผลการรักษา ใช้ข้อมูลบางส่วนจาก Peritoneal Dialysis Outcomes and Practice Patterns Study (PDOPPS) และข้อมูลผลการรักษาของประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐฯ และไทย พบว่าอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องของประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

“ผลการเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องในเวทีประชุม ISPD 2018 จะเห็นได้ว่า อัตราการติดเชื้อในช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในไทยไม่ได้ขี้เหร่ เมื่อดูอัตราการติดเชื้อใน 5 ประเทศข้างต้น ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งใช้งบประมาณต่อการดูแลผู้ป่วยต่อรายของไทยยังมีอัตราต่ำสุด ขณะที่การติดเชื้อในช่องท้องอยู่ในระดับเดียวกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างมาก” อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าว

พล.อ.นพ.ถนอม กล่าวว่า จากเวทีประชุม ISPD 2018 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการดูแลผู้ป่วยไตวายของไทยด้วยนโยบาย PD- First หรือส่งเสริมวิธีล้างไตผ่านช่องท้องเป็นลำดับแรกภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้พัฒนาจนมีคุณภาพและมาตรฐาน อยู่ในระดับเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ และที่สำคัญสามารถช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศกว่า 53,000 คน สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จากเดิมที่ในอดีตมีเพียงบริการฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียมเท่านั้น ทำให้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่จำเป็นต้องรับการล้างไตจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษาและเสียชีวิตลง