ผอ.โรงพยาบาลขลุง ชำแหละการอภิบาลระบบบัตรทอง พบ “หลักนิติธรรม” อ่อนแอที่สุด เหตุออกกฎระเบียบไร้คนทำตาม ชี้จำเป็นต้องปรับปรุงการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ระบบการเงินการคลัง ฉันทามติในการทำงาน

นพ.วินัย ลีสมิทธิ์

นพ.วินัย ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขลุง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “สิทธิประโยชน์หลัก : รูปแบบการกำกับเพื่อความยั่งยืน ด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า หากมองการอภิบาลระบบ (Governance) ในระบบหลักประกันสุภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จะแบ่งออกได้เป็น 5 มิติ ได้แก่ 

1.การชี้แนะและออกกฎบังคับ 

2.ความโปร่งใสและถ่ายทอดข้อมูลถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

3.การมีส่วนร่วมทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 

4.ระบบการตัดสินใจที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง 

5.ความยั่งยืน ในแง่สิทธิประโยชน์และระบบการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีโอกาสศึกษาเรื่องการอภิบาลระบบจากตัวอย่างใน75 จังหวัด พบว่าสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือเรื่องของความครอบคลุม นั่นเพราะระบบบัตรทองเป็นกฎหมายบังคับใช้ ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงได้ตามสภาพความเป็นจริง ส่วนสิ่งที่อ่อนแอที่สุดก็คือเรื่องของหลักนิติธรรม รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่คนไม่ทำตาม

นอกจากนี้ ความอ่อนแอที่รองลงมาก็คือเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลขณะนั้นหลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่ภาคประชาชนที่เป็นเพียงตรายางทำหน้าที่ประทับเท่านั้น และยังพบความอ่อนแอเรื่องความโปร่งใสคือไม่มีการกระจายข้อมูล ความยั่งยืนในระบบการเงินการคลังที่ยังมีความเสี่ยงเพราะทุกคนเอาตัวรอด รวมทั้งเรื่องฉันทามติที่พบว่าทำงานกันไปคนละทิศทาง

“ประเด็นทั้งหมดคือผลที่เกิดขึ้นในอดีต ฉะนั้นหากต้องการให้เกิดการอภิบาลระบบที่ดีในอนาคต จำเป็นต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากการอภิบาลระบบในทางทฤษฏีแล้ว จะพบว่ามีอยู่ 3 ช่องทาง ได้แก่ 

1.ระบบรัฐที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจถูกมองว่าไม่มีความเข้มแข็ง แต่ข้อดีคือเป็นระบบที่มีการทำงานชัดเจน อย่างไรก็ตามในเรื่องการอภิบาลระบบคงไม่สามารถใช้อำนาจรัฐอย่างเดียวได้ 

2.การแยกระบบผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นการใช้ระบบการตลาด มีการทำสัญญาเพื่อให้เกิดการบริการที่ดีขึ้น 

3.ระบบการสร้างเครือข่าย

“ผมคิดว่าไม่มีระบบใดใน 3 ระบบนี้ที่ดีที่สุด ทุกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราจะรวมทั้ง 3 ระบบนี้ มาผสมกลมกลืนได้อย่างไร คำถามก็คือแล้วประเทศไทยในปัจจุบันจะทำให้ทั้ง 3 ระบบกลมกลืนกันได้อย่างไร” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าในระบบบัตรทองปัจจุบันจะมีการแบ่งผู้ซื้อและผู้ให้บริการอย่างชัดเจน แต่การอภิบาลระบบนั้นจำเป็นต้องทำร่วมกัน ซึ่งจากการทำวิจัยประเด็นทบทวนบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องนำทุกระบบมาอยู่ในขอบเขตเดียวกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ที่สามารถอภิบาลระบบทั้ง 3 เข้ากันได้เป็นอย่างดี

สำหรับข้อเสนอเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพไทยในระบบบัตรทองนั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างใน 3 ระดับ ได้แก่ 

1.ระดับประเทศ ด้วยการตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board)

2.ระดับเขต คือกลไกคณะกรรมการสุขภาพเขต (Area Health Board) ซึ่งจะมีอนุกรรมการสำคัญ 2 คณะ คืออนุกรรมการดำเนินงานซื้อบริการ กับอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับจังหวัด 

3.ระดับจังหวัด คือคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับจังหวัด (Provincial Health Promotion and Disease Prevention Board)