รพ.สารภี เชียงใหม่รุกต่อเนื่องเข้าถึงชุมชน ดันอาสาสมัครช่วยงานผลักดันระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิร่วมกัน ชี้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียงพอต่อประชากรพื้นที่ ส่งผลการปฏิบัติงานไร้ปัญหา 

นพ.จรัส สิงห์แก้ว

นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผอ.โรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศว่า ระบบดังกล่าวถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญของการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิต่อประชาชน แต่อีกด้านก็เป็นเรื่องใหม่ที่เอาของเก่ามาสานต่อ เพราะแต่เดิมโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีแพทย์ครอบครัวที่คอยบริการประชาชนในชุมชนอย่างเข้าถึงอยู่แล้ว เพียงแต่แพทย์ที่เข้าไปดูแลยังไม่ใช่แพทย์ที่มีความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัคร พยาบาล หรือวิชาชีพอื่นๆ ที่เข้าไปดูแลชุมชน 

นพ.จรัส กล่าวว่า แต่ด้วยกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ระบุชัดเจนว่า ต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดูแลชุมชนให้เหมาะสม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงต้องผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ครอบคลุมตามหลัก แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน 

อย่างไรก็ตาม ในด้านการบริการสุขภาพปฐมภูมิ โรงพยาบาลสารภีได้ริเริ่มมานานแล้ว โดยใช้นโยบายที่สำคัญในการดูแลสุขภาพชุมชนเชิงรุก คือ

1.ดูแลทุกคน เรียกว่าแพทย์จะดูแลตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ไปจนถึงทุกช่วงอายุกระทั่งเสียชีวิต อยู่ที่ว่าผู้ป่วยในชุมชนนั้นๆ อยู่ในบริบทใดที่ต้องการการรักษา

2.ทุกที่ หมายถึง ต้องมีกิจกรรมดูแลทั้งระบบไม่ว่าจะในโรงพยาบาลสารภี หรือภายนอกโรงพยาบาล ทั้งการตรวจรักษา คัดกรอง จัดทำสถิติ ประวัติ การส่งแพทย์ออกไปให้ความรู้ชุมชน หรือการเยี่ยมบ้าน

3.ทุกอย่าง หมายถึง การบริการจะเป็นลักษณะแบบวันสต็อปเซอร์วิส คือมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเแพทย์ที่ทันสมัย สามารถรองรับคนไข้ฉุกเฉินได้ และขณะเดียวกันก็มีความพร้อมในการเชื่อมโยงหน่วยบริการต่างๆ และมีความพร้อมทุกเวลา 

นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานด้วยการบูรณาการกับชุมชนในพื้นที่ โดยการจัดตั้งอาสาสมัครในแต่ละชุมชน เพื่อคอยสอดส่องดูแลคนในชุมชนกรณีที่ต้องการการดูแลจากแพทย์ เช่น บางพื้นที่มีหญิงตั้งครรภ์ อาสาสมัครสามารถแจ้งมายังโรงพยาบาลเพื่อให้จัดส่งแพทย์ไปให้ความรู้การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ได้ และยังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงแนะนำการกินอาหาร การดูแลครรภ์ 

 

“แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลสารภีถือว่ามีจำนวนที่ครอบคลุมประชากร โดยในพื้นที่มีประชากรราว 7.6 หมื่นคนรวม 4 ตำบล ขณะที่แพทย์เวชศาสตร์ของโรงพยาบาลมีทั้งสิ้น 6 คน และอยู่ระหว่างการอบรมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการขาดแคลนแพทย์เพื่อเดินหน้าตามนโยบายบริการสุขภาพปฐมภูมิไม่ใช่ปัญหา จึงทำให้สามารถเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็จะลงพื้นที่เกือบทุกวัน และส่วนใหญ่ก็จะปฏิบัติงานอยู่ในชุมชนนั้นๆ” นพ.จรัส กล่าว 

ผอ.โรงพยาบาลสารภี กล่าวอีกว่า ข้อได้เปรียบเรื่องความพร้อมของแพทย์ทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน กล่าวคือสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น ลดการแออัดที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะแพทย์ก็ทำงานเชิงรุกในทุกวันกับชุมชน ขณะที่ฐานที่ตั้งหรือการแพทย์เชิงรับ แพทย์ที่ประจำโรงพยาบาลก็มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ 

“สำคัญที่สุดคือได้เห็นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่พร้อมจะก้าวเดินไปกับระบบบริการสุขภาพรูปแบบนี้ ขณะเดียวกันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลสารภีเองก็มีความพร้อมในการผลักดันให้ระบบดังกล่าวสมบูรณ์อย่างที่สุด” นพ.จรัส กล่าวทิ้งท้าย