"หมอเกรียง" นำทีมแพทย์ชนบทฉีกรูป "หมอประดิษฐ" ประกาศชัดไม่เอา P4P! พร้อมชี้แจงแกนนำ รพช.ทุกจังหวัดให้เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้น หวังเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย ขณะที่ รมว.สธ.ลั่นไม่ลาออก

วานนี้ (9 เม.ย.) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทได้จัดประชุม "วิกฤตกำลังคนทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน:ผ่าความจริงวันนี้" นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีแพทย์ ทันตแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวมกันกว่า 400 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งระหว่างการประชุมนั้น นพ.เกรียงศักดิ์ ได้นำทีมกลุ่มแพทย์ชนบทฉีกแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) และรูปภาพ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อแสดงการคัดค้านแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน ระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และแบบ P4P

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นพ.เกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้นัดแกนนำ รพช.ในแต่ละจังหวัดมาติดอาวุธทางความรู้ โดยจะชี้ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน หากมีการนำระบบ P4P มาใช้ และให้แกนนำกลุ่มดังกล่าวไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายหากเจ้าหน้าที่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับการใช้  P4P ก็สามารถต่อสู้ได้ในแบบอารยะขัดขืน

"ในต่างประเทศแม้จะใช้ระบบนี้ด้วยการวัดผลงานตามคุณภาพก็ยังล้มเหลวและไม่คุ้ม แต่ สธ.กลับเอาเข้ามาใช้ ที่สำคัญยังเป็นการเอามาใช้แบบทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทั้งที่ผลการศึกษาของ IHPP ระบุว่าได้ผลดีเพราะเป็นการจ่ายแบบเพิ่มเติม (On Top) เข้าไป"ปธ.ชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวภายหลังจากประชุมเสร็จแล้วในเวลา 13.00 น. ทางกลุ่มจะเดินทางไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อกรรมการบริหารพรรคให้ปลดนพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพราะเป็นต้นเหตุทำให้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กลายเป็น30 บาทรักษาทุกโรคแบบอนาถา

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังรพ.ศิริราช เพื่อทำการร้องทุกข์และขอพระเมตตาจากพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก หรือสมเด็จพระบิดา โดยจะมีแพทย์ดีเด่นศิริราชเป็นแกนนำในการกล่าวปฏิญญาเพื่อขอกำลังใจให้พระบิดาปกป้องคุ้มครองระบบสวัสดิภาพของประชาชน

"ต่อให้ สธ.ล้มเลิกการใช้  P4P แต่แนวทางการถอดถอน นพ.ประดิษฐ ก็จะดำเนินการต่อไป เพราะขณะนี้ สธ.ไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการรวบอำนาจ ซึ่งเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน หรือการกระจายทรัพยากรระบบบริการ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การเอื้อนโยบายเมดิคัลฮับ ที่ดำเนินงานผิดพลาดจนแพทย์ลาออกจาก รพช.ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวและว่า คนที่เดือดร้อนไม่ใช่แพทย์ที่ลาออก แต่เป็นชาวบ้าน

"ประดิษฐ" ลั่นไม่ลาออก

นพ.ประดิษฐให้สัมภาษณ์ภายหลังตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์เข้าพบเพื่อให้กำลังใจ พร้อมยื่นรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่สนับสนุน P4P ขั้นต้น จำนวนกว่า 28,000 รายชื่อ ว่า ตนจะไม่ลาออก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร จากนี้อาจจะออกหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการเพื่อให้มานั่งหารือร่วมกัน เพราะหากไม่คุยเรื่องจะไม่จบซึ่งในเรื่องค่าตอบแทนนั้นตนได้มอบนโยบายให้มีการจ่ายแบบผสมผสานระหว่างจ่ายตามพื้นที่และแบบ P4P ส่วนในแนวปฏิบัติ หากกลุ่มที่คัดค้านเห็นว่า วิธีการปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้หรือติดขัดอย่างไรก็มีสิทธิ์เข้ามาหารือ

เมื่อถามถึงกรณีแพทย์ชนบทเตรียมดำเนินการแผนดาวกระจายกดดันให้ ส.ส.และกรรมการพรรคเพื่อไทยบีบออกจากตำแหน่ง นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าแพทย์ชนบทมองประเด็นค่าตอบแทนมาทำงานทางด้านการเมืองอย่างไร ทำไมถึงเอาวิชาชีพลงไปยุ่งกับงานทางการเมือง ทุกวันนี้ก็เอาการเมืองมายุ่งโดยไม่เป็นระบบอยู่แล้ว ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง การเมืองจะช่วยให้ระบบมั่นคงเท่านั้น เมื่อได้รับการอนุมัติมาแล้วก็ไม่ควรเอาการเมืองมายุ่งให้มากกว่านี้อีก และยังไม่เห็นว่าส.ส.ในพรรคจะแสดงความไม่พอใจ  มีแต่สนับสนุน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายของแพทย์ชนบทจะส่งผลต่อการทำงานหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ถ้าจะส่งผลก็คืออยากให้แพทย์เอาเวลาไปทำงานดูแลประชาชน รักษาประชาชน และทำความเข้าใจกับประชาชน หากไปเคลื่อนไหวในเวลาที่ไม่เสียงานก็ไม่ว่าอะไร

หมอชุมชน ชม.แต่งดำประท้วง

ที่ จ.เชียงใหม่วานนี้ (9เม.ย.) นพ.จรัส สิงห์แก้ว  ผอ.โรงพยาบาลอำเภอสารภี พร้อมแพทย์และพยาบาลในจังหวัดกว่า 50 คนพร้อมใจกันสวมชุดดำรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมืองเชียงใหม่ ถือป้ายผ้าประท้วงมีข้อความว่า "เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ขอคัดค้านและไม่รับนโยบาย P4P เราตั้งใจทำงานเพื่อประชา มิใช่ล่าแต้มหากิน" เพื่อแสดงพลังคัดค้านนโยบายการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายพร้อมกับร่วมลงชื่อประท้วงแล้ว 128 ราย

นพ.จรัส อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของเครือข่ายว่า การทำงานในชนบทหรือในโรงพยาบาลชุมชนเป็นการทำงานในภาวะที่มีความจำกัดหลายประการ และทำให้เกิดความสูญเสียโอกาสหลายด้าน ทำให้โรงพยาบาลชุมชนขาดแคลนบุคลากรทุกระดับตลอดมา แต่ที่ผ่านมายังมีแพทย์และบุคลากรสหวิชาชีพจำนวนมาก เสียสละทำงานในชนบทอย่างยาวนาน กระทั่งเกิดปัญหาการปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย และปรับไปใช้ในระบบP4P แทน จนทำให้เกิดความขัดแย้งในหลายระดับ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเชียงใหม่ จึงขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน คือ ยืนยันให้มีการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาจ่ายเช่นเดิม อันจะเป็นหลักประกันสำคัญในการจูงใจให้ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีความสุขและเป็นแกนนำสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชนบท เราไม่ได้คัดค้านหากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปจะนำค่าตอบแทนในระบบ P4P มาใช้สามารถตัดสินใจได้ตามความเหมาะสม

นพ.จรัส ระบุอีกว่า ระบบบริการสุขภาพไทยมีความซับซ้อน กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าใจความแตกต่างดังกล่าว ไม่ใช่เหมารวมทั้งประเทศ อันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ระหว่างโรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลเล็ก ทางเครือข่ายยินดีที่จะให้มีการเพิ่มค่าตอบแทนให้สหวิชาชีพอื่นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดค่าตอบแทนไปเพิ่มอีกวิชาชีพหนึ่งเพราะเป็นการสร้างความแตกแยก ซึ่งกระทรวงควรจัดสรรงบพิเศษลงมา

นอกจากนี้ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเชียงใหม่ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ยุติการปรับลดเบี้ยเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน และยุติการนำระบบ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ให้ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขงดการสัมภาษณ์ และให้ข้อมูลแก่สื่ออันจะก่อให้เกิดความแตกแยก

กลุ่มหมอเมืองดอกบัวขึ้นป้ายประท้วง

ส่วนที่โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณบ้านปลาดุก ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กลุ่มเจ้าหน้าที่แพทย์ชนบทได้นำป้ายประท้วงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งลดเงินค่าตอบแทนแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้รายได้ของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนลดลงไม่คุ้มกับค่าวิชาชีพ โดยครั้งนี้นำป้ายไปติดตั้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลติดถนนใหญ่ ซึ่งเห็นได้เด่นชัดกว่าที่เคยติดไว้หน้าห้องตรวจโรคภายในตัวอาคารโรงพยาบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 เมษายน 2556