สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยืนยันข้อยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่ต้องขออนุญาต ต้องกำหนดตามพลังงานสูงสุด มิได้กำหนดตามปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ กรณีคลินิกทันตกรรมเป็นเครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 คิดอัตราค่าธรรมเนียมเครื่องละ 1,000 บาท ส่วนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีเพื่อให้มีความรู้ด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี และการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ชี้แจงทันตแพทยสภายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับข้อกำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคลินิกทันตกรรมกว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ
โดยระบุว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ยืนยันเจตนารมณ์ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 (ดู ที่นี่) มุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทางทันตกรรมสามารถกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีได้ทันท่วงที เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย ประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ประการใด
จากกรณีการเสนอข่าว เรื่อง ทันตแพทยสภายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับข้อกำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคลินิกทันตกรรมกว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ เนื่องจากมีการกำหนดให้ผู้ครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมต้องมีใบอนุญาตครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี รวมทั้งผู้ใช้งานต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าความปลอดภัยด้านรังสี (ดูข่าว ที่นี่) ในการนี้ ปส.ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ และเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 โดยตรง ขอชี้แจงประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เสนอให้พิจารณาออกกฎกระทรวงรวมทั้งค่าธรรมเนียม โดยคำนึงถึงประเภท ชนิด ขนาด หรือระดับของเครื่องกำเนิดรังสีให้ตรงกับความเป็นจริงของเครื่องกำหนดรังสีที่ใช้ในทางทันตกรรม โดยเสนอให้ยกเว้นกับเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมขนาดเล็ก
ข้อชี้แจง ตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) กำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดไม่เกิน 5 keV อยู่ในข่ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต มิได้กำหนดตามปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งจะแปรผันตามคุณลักษณะของเครื่องและปริมาณการใช้งาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น การยกร่างกฎกระทรวงจะยึดตามหลักเกณฑ์นี้ และได้จำแนกประเภทของเครื่องกำเนิดรังสีเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะความเป็นอันตรายและกำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้
1. เครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 1 ได้แก่ เครื่องกำเนิดรังสีที่มีอันตรายสูง เช่น เครื่องเร่งอนุภาค คิดอัตราค่าธรรมเนียมเครื่องละ 2,000 บาท
2. เครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 ได้แก่ เครื่องกำเนิดรังสีที่มีอันตราย เช่น เครื่องเอกซเรย์ทั่วไปที่ใช้ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม คิดอัตราค่าธรรมเนียมเครื่องละ 1,000 บาท
3. เครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 3 ได้แก่ เครื่องกำเนิดรังสีที่มีอันตรายน้อย ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ที่อยู่ในสภาพปกปิด เช่น เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในการตรวจสัมภาระ คิดอัตราค่าธรรมเนียมเครื่องละ 500 บาท
ดังนั้น เครื่องเอกซเรย์ในทางทันตกรรม จำเป็นต้องขอรับใบอนุญาต โดยจัดเป็นเครื่องกำเนิดรังสีประเภทที่ 2 คิดอัตราค่าธรรมเนียมเครื่องละ 1,000 บาท และใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ซึ่งเห็นว่าไม่น่าจะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการจนเกินควร อีกทั้ง ในร่างกฎกระทรวงได้กำหนดไว้ว่า หากเป็นหน่วยงานราชการและสถานศึกษาของทางราชการ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมด้วย
ประเด็นที่ 2 เสนอว่าทันตแพทย์มีความรู้ด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการสอบขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีอีก
ข้อชี้แจง ข้อกำหนดที่ให้สถานปฏิบัติการทางรังสีทุกแห่ง จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีเป็นหลักเกณฑ์สากล ตามมาตรฐานของ IAEA ในอดีตที่ผ่านมา ตาม พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 เคยกำหนดให้มี “เจ้าหน้าที่รับผิดชอบทางเทคนิคเกี่ยวกับรังสี” ซึ่งระบุให้ผู้ขออนุญาตเพียงแจ้งว่า บุคคลดังกล่าวเคยผ่านการฝึกอบรมด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีหรือไม่ จากที่ใด และมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอดว่า ไม่มีเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน
ดังนั้น ปส.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงได้กำหนดมาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี” ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2549 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องผ่านการสอบและขึ้นทะเบียน ซึ่งแบ่งระดับของเจ้าหน้าที่ตามความสามารถและหน้าที่รับผิดชอบเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานการรับรองที่ชัดเจน
จากข้อมูลการตรวจสอบสถานปฏิบัติการทางรังสี พบว่า มีหน่วยงานจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี อาทิ ไม่จัดหาอุปกรณ์บันทึกรังสีประจำตัวบุคคลให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน บางหน่วยงานไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาตการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดบุคลากรที่ทำหน้ากำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีประจำหน่วยงาน ซึ่งจะต้องมีความรู้ทั้งด้าน การป้องกันอันตรายจากรังสี และการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่สถานพยาบาลทางทันตกรรมจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีที่มีความรู้ความสามารถและศักยภาพเพียงพอที่จะกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป
ประเด็นที่ 3 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี หมายความถึงบุคคลประเภทใด และมีขอบเขตหน้าที่การปฏิบัติงานเพียงใด
ข้อชี้แจง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี หมายถึง บุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 หรือผู้ได้รับใบรับรองให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีตาม พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ที่ใบรับรองยังไม่สิ้นอายุหลังจากวันที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสี ควบคุมการได้รับปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและให้คำแนะนำแก่ผู้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามความสามารถในการดูแลความปลอดภัยการใช้งาน คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง
ประเด็นที่ 4 ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายในคลินิก ซึ่งมิใช่ผู้ครอบครองเครื่องถ่ายภาพรังสี จะสามารถทำหน้าที่ถ่ายภาพรังสีช่องปากให้แก่ผู้ป่วยด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้หรือไม่อย่างไร
ข้อชี้แจง ทันตแพทย์ดังกล่าวสามารถกระทำได้ หากปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีความปลอดภัยทางรังสีต่อตนเอง ผู้ป่วย ประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยต้องอยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีที่ได้รับใบอนุญาต การที่ผู้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองเครื่องถ่ายภาพรังสีนั้นมอบหมายให้ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายในคลินิกทำหน้าที่ถ่ายภาพรังสีช่องปากให้แก่ผู้ป่วยด้วยตนเองย่อมเป็นดุลยพินิจของผู้รับใบอนุญาตเอง หากเกิดความเสียหายอย่างใดๆ อันเกี่ยวกับการใช้หรือครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี ผู้รับใบอนุญาตนั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว
ประเด็นที่ 5 ขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี จะมีการสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือไม่ และมีหลักเกณฑ์อย่างไร
ข้อชี้แจง การขอรับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีจะต้องมีการสอบ ซึ่งหลักเกณฑ์การสอบจะต้องผ่านวิชาด้านกฎหมายและวิชาเทคนิคเกี่ยวกับรังสี
ประเด็นที่ 6 หากมีการจัดสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และจะสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเตรียมตัวสอบเป็นผู้รับใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีจากแหล่งข้อมูลใด
ข้อชี้แจง ปัจจุบันคุณสมบัติของผู้เข้าสอบต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีออกตามความ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2549 และอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎกระทรวงเรื่องดังกล่าวตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
ในการนี้ ปส. ขอเรียนย้ำว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสามารถดูแลความปลอดภัยทางรังสีได้ทันท่วงที และอยู่ในสภาวะที่สามารถกำกับดูแลความปลอดภัยได้ในขณะนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ประการใด และขอเรียนเพิ่มเติมว่า การกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีได้เคยกำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต และการดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุต้นกำลัง วัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณู พ.ศ. 2550 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และหลักเกณฑ์การรับรองเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่อง มาตรฐานการรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีออกตามความพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2549 ซึ่งได้บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 เป็นเพียงการปรับรูปแบบจากการออกใบรับรองเป็นใบอนุญาต และปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- 563 views