"นักวิชาการ-ภาคประชาชน" หนุนแนวคิดรัฐบาลตั้งกองทุนชราภาพดึงภาษีบาปดูแลผู้ป่วยระยะยาว ดึงทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมรับผิดชอบ ชงเก็บเงินสมทบวัยทำงาน 40-65 ปี หนุนท้องถิ่นและเอกชนเข้าร่วม แนะรัฐต้องออกกฎหมายตั้งคณะกรรมการดูแลผู้สูงอายุ
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเร่งศึกษาตั้งกองทุนชราภาพ โดยคาดว่าจะมีการใช้ภาษีบาปจ่ายตรงให้กับกองทุนดังกล่าว เพื่อใช้ดำเนินการว่า การดูแลผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาในระยะยาว และจำเป็นต้องมีปัจจัยในการรักษาพยาบาลซึ่งขณะนี้อยู่ในภาระการดูแลของครอบครัวเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าแต่ละครอบครัวมีศักยภาพในการดูแลต่างกัน ซึ่งต้องช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในภาระของรัฐเพียงอย่างเดียวในอนาคต ตอนนี้ผู้สูงอายุมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการดูแลเพิ่มขึ้นตามมา โดยในปี 2560 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านและผู้สูงอายุติดเตียง รวมกันกว่า 3.7 แสนคน
ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงทั้งประเทศปี 2560 นอกเหนือจากที่รัฐบาลให้การดูแลอยู่ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ค่าอุปกรณ์ เช่น เตียงผู้ป่วย เบาะ รถเข็น ผ้าอ้อม วัสดุสิ้นเปลือง และค่าจัดการผู้ดูแล ซึ่งรวมทั้งค่าเดินทางผู้ดูแล รวมกันแล้วเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท
ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้สูงมาก เราจึงออกแบบให้ช่วยกันรับผิดชอบ และหากให้รัฐดำเนินการหรือเข้ามาดูแลทั้งหมดก็คงลำบาก คณะวิจัยจึงออกแบบให้สังคมที่ยังไม่ป่วยช่วยดูแล และให้ผู้ป่วยและท้องถิ่นช่วยกันคนละครึ่งโดย
1.รัฐจะต้องจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว โดยมีค่าบริหารจัดการเกิดขึ้น ซึ่งงบประมาณด้านสาธารณสุข งบประมาณเยี่ยมบ้านก็ให้มีเช่นเดิม
2.ค่าอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางของผู้ดูแล อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลและประชาชน อายุ 40-65 ปี เพราะพวกเขาก็ต้องเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุเช่นเดียวกัน ช่วยสมทบรับผิดชอบ จ่ายเงินสมทบกองทุน โดยการร่วมจ่ายเป็นปี เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 500 บาทต่อปี
3.ค่าผู้ดูแลและค่าการเดินทางผู้ดูแล ให้ผู้ใช้บริการรับผิดชอบและท้องถิ่นร่วมกันจ่ายในสัดส่วนที่เท่ากัน เพราะขณะนี้ เงินในส่วนของท้องถิ่นได้นำเงินพาผู้สูงอายุไปเที่ยว ซึ่งควรนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการ ส่วนเอกชนก็ควรเข้ามาช่วยดำเนินการ ทั้งการบริจาค ทั้งในกองทุนหรือในส่วนท้องถิ่น
“ทั้งหมดคือการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงให้มีระบบในการเข้ามาดูแลร่วมกันทั้งสังคมทุกภาคส่วน โดยไม่ตกเป็นภาระของรัฐมาก เพียงแค่รัฐจะต้องออกกฎหมาย หรือมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล เช่น ในเรื่องการให้บริการของเอกชนผู้สูงอายุต่างๆ ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นเหมือนในปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ” ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ กล่าว
ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนาในฐานะผู้สูงอายุ กล่าวว่า ถือเป็นแนวคิดที่ดีเพราะกองทุนนี้ควรมีมานานแล้ว รัฐบาลต้องเดินหน้าเป็นคนนำร่องจัดตั้งกองทุนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ที่สำคัญกองทุนนี้ต้องมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อนลอย อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลมีแนวคิดในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าและต้องสนับสนุน ซึ่งควรทำให้เป็นจริงให้ได้ในรัฐบาลนี้ โดยควรใช้การเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าบาป นำมาตั้งกองทุนนี้ ไม่ใช่การดึงงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่มีภารกิจของตัวเองอยู่แล้วทั้ง ไทยพีบีเอส, สสส.หรือกองทุนกีฬา
ที่สำคัญการเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพยังเป็นผลดีต่อภาพรวมของการแก้ปัญหาทั้งเหล้า บุหรี่ หรืออาจรวมไปถึงสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เพราะงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าการขึ้นภาษีคือหนึ่งในมาตรการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาสินค้าทำลายสุขภาพ และสร้างผลกระทบทางสังคม กลับกันถ้าไปแบ่งหรือไปลดเงินกองทุนที่ทำหน้าที่ลดปัญหา ก็คือการไปสนับสนุนสินค้าทำลายสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ในทางอ้อมนั่นเอง
- 5 views