อาจารย์แพทย์จุฬาฯ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง เหตุสภาวิชาชีพเป็นเรื่องเฉพาะ ยากที่คนนอกจะตามได้ทัน แม้แต่แพทย์ด้วยกันยังอาจมีความรู้ไม่เท่ากัน เผยผลการศึกษา 10 ประเทศ ไม่พบข้อมูลประชาชนร่วมนั่งเป็น กก.สภาวิชาชีพ ส่วนข้อเสนอจำกัดวาระตำแหน่งกรรมการแพทยสภาต้องปล่อยเป็นเรื่องภายในวิชาชีพตกลงกันเอง ชี้ทางออกลดขัดแย้ง ต้องเน้นทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลความคืบหน้า และสร้างความกระจ่างกระบวนการพิจารณา รวมทั้งอาจให้คนนอกร่วมเป็นอนุกรรมการพิจารณาเฉพาะเรื่อง
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้ประชาชนร่วมลงนามปฏิรูปแพทยสภาว่า สาเหตุสำคัญของการเรียกร้องนี้มาจากความรู้สึกของประชาชนบางส่วนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการทำงานของสภาวิชาชีพ โดยเฉพาะกรณีที่มีความเสียหายทางการแพทย์เกิดขึ้น ซึ่งผลการดำเนินการของสภาวิชาชีพไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังหรือค้านกับความน่าเป็นจริง
เรื่องนี้มองว่าน่าจะเกิดจากช่องว่างในการสื่อสาร โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ที่มีความจำเพาะและมองว่าคนทั่วไปยากที่จะเข้าถึง ขณะที่ผู้เสียหายย่อมอยากได้รับคำอธิบายถึงความคืบหน้า ตลอดจนสาเหตุความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิด ดังนั้นแพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพต้องชี้แจงถึงความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ใช้ภาษาที่ต้องเข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชน เพื่อแก้ไขช่องว่างนี้
ส่วนข้อเสนอในการปฏิรูปแพทยสภาที่ขอให้มีคนนอกร่วมนั่งเป็นกรรมการแพทยสภานั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า จากการศึกษาของ RAND Corporation หน่วยงานศึกษาวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยได้มีการทบทวนกระบวนการดูแลหรือปกครองของสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ใน 10 ประเทศ ทั้งทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ดูทั้งโครงสร้าง งบประมาณ และบุคลากร รวมถึงกระบวนการทำงาน ซึ่งพบว่าไม่มีหลักฐานใดปรากฎว่าประชาชนต้องเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองวิชาชีพ
ทั้งนี้เหตุผลหลักคือ สภาวิชาชีพเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อทำหน้าที่ดูแลและกำกับมาตรฐาน รวมถึงการดำเนินวิชาชีพให้ถูกทำนองคลองธรรมภายใต้กรอบวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเรื่องวิชาชีพเป็นเรื่องของความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นกรณีการนำคนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการเพื่อร่วมพิจารณาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะวิชาชีพ จึงเป็นไปได้ยากที่คนนอกจะตามได้ทัน เพราะแม้แต่แพทย์ด้วยกัน บางเรื่องอาจมีความรู้ไม่เท่ากัน
ดังนั้นข้อเรียกร้องที่ให้มีสัดส่วนของประชาชนร่วมเป็นกรรมการเพื่อเข้าไปกำกับวิชาชีพคงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ ตั้งแต่ปรัชญาของการมีสภาวิชาชีพ รวมไปถึงกระบวนการทำงานต่างๆ หากสภาวิชาชีพถูกตั้งข้อสงสัยการดำเนินงาน สภาวิชาชีพต้องหาสาเหตุให้เจอและแก้ไขปัญหานั้น ต้องทำความเข้าใจกับผู้เสียหายให้กระจ่าง ทั้งขั้นตอนการไต่สวน ความคืบหน้า และข้อเท็จจริงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในการพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ สภาวิชาชีพอาจตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องนั้นโดยตรง แต่ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังในเรื่องความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ อย่างเช่น ความเสียหายเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน จะต้องไม่ตั้งบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงพยาบาลร่วมเป็นกรรมการ หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการให้ความเป็นธรรม เพราะอาจทำให้เกิดข้อครหาและอคติตามมาได้ ขณะเดียวกันกระบวนการบางส่วนควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้าไปร่วมให้ความเห็น อาจอยู่ในรูปแบบอนุกรรมการซึ่งจะช่วยลดทอนความระแวงลงได้
นพ.ธีระ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนต้องการมีส่วนร่วม อาจเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับและตรวจสอบสภาวิชาชีพได้ เช่น หากรู้สึกว่าถูกละเมิดและไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งมีคณะกรรมการชุดที่ดูแลด้านสาธารณสุขอยู่ โดยเปิดกว้างในการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งกระบวนการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น มองว่าเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ประสานกันมากนัก และบางองค์กรมีการดำเนินการที่ช้ามาก
ดังนั้นหากรัฐมองว่าเรื่องนี้มีแนวโน้มเป็นปัญหาสังคม รัฐบาลสามารถนำหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้มาจัดเรียงเป็นกระบวนการ เพื่อเป็นช่องทางการการร้องเรียนและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนกรณีเกิดความเสียหายทางการแพทย์ โดยต้องมีการประชาสัมพันธ์ช่องทางที่จัดทำขึ้นให้ประชาชนรับทราบ เพื่อที่ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนเพื่อหาหนทางเอง จนทำให้เกิดความรู้สึกการดูแลสวัสดิภาพประชาชนโดยรัฐที่ไม่ครบถ้วน
“ผมรู้สึกไม่สบายใจกรณีที่มีการกินแหนงแคลงใจจนไปถึงการเรียกร้องปฏิรูปแพทยสภา ซึ่งข้อเสนอที่เรียกร้องนี้ทำให้ต่างฝ่ายต่างสุดโต่งไปกันคนละทาง ซึ่งหากเป็นไปได้ควรถอยกันคนละก้าวและดูว่ารากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร และช่วยกันแก้ไขได้หรือไม่ ลดทอนข้อเรียกร้องที่ต้องสมเหตุผลและเป็นไปได้จริง ขณะเดียวกันอาจใช้กลไกทางสังคมเพื่อช่วยถ่วงดุลแทน โดยมีการทำงานประสานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสงครามชิงพื้นที่สื่อ ซึ่งจะทำให้เกิดกองเชียร์ที่ต่างฝ่ายต่างคุกรุ่น และจะไม่สามารถจัดการให้ปรองดองเพื่อทำงานร่วมกันได้”
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภานั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เรื่องนี้อ่อนไหว จะมองในแง่ดีหรือข้อจำกัดก็ได้ เพราะกรณีที่ผู้นำองค์กรอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป อาจทำให้โอกาสของการพัฒนาใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นน้อยกว่าการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยๆ อาจทำให้การดำเนินนโยบายและงานต่างๆ ไม่ต่อเนื่องเช่นกัน แต่ทั้งนี้คงต้องให้เป็นเรื่องภายในวิชาชีพตกลงกันเองว่าอยากได้แบบไหน อยากให้มีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของผู้บริหารสภาวิชาชีพหรือไม่ และต้องดูวัตถุประสงค์ หากการกำหนดวาระเป็นไปเพื่อลดการผูกขาด แต่ขณะเดียวกันรูปแบบการเลือกตั้งผู้บริหารสภาวิชาชีพยังเป็นการเลือกตั้งยกทีม ดังนั้นต่อให้เปลี่ยนหัวอย่างไร การผูกขาดก็จะยังคงเหมือนเดิม
“เรื่องนี้ผมมองว่าต้องให้สภาวิชาชีพตกลงกันเอง โดยให้ช่วยกันพิจารณาว่าจะยังคงแบบเดิมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหน ซึ่งประชาชนสามารถเรียกร้องได้ แต่ต้องให้สภาวิชาชีพพิจารณากันเอง อาจทำประชาพิจารณ์ความเห็น” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ความไม่เข้าใจระหว่างแพทยสภาและเครือข่ายผู้ป่วยเกิดขึ้นมานานมาก ทำอย่างไรให้เกิดการพูดคุยกันที่นำไปสู่ความเข้าใจ นพ.ธีระ กล่าวว่า ยอมรับว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนกันคนละข้างมานาน การจะทำให้มายืนด้วยกันคงเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทางออกในเรื่องนี้อย่างที่กล่าวข้างต้น คือรัฐบาลหากมองเรื่องนี้เป็นปัญหา จะต้องมีการต่อจิกซอว์การทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแลประชาชน ทันทีเมื่อเกิดปัญหาต้องทราบว่าเดินไปทางไหนอย่างไร เพื่อขอความเป็นธรรม ขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการที่กระจ่างและสร้างความเข้าใจจึงจะลดปัญหานี้ลงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’
อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ
แพทยสภาไม่จำกัดวาระ กก. เพื่อทำงานต่อเนื่อง ทั้งไม่มีอำนาจล้นแบบ ปธน.
หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา
- 7 views