ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่เขียนในฐานะอาจารย์หมอคนหนึ่ง หลังทราบข่าวหมอถูกผู้ป่วยเตะก้านคอขณะกำลังตรวจรักษา เป็นเหตุการณ์ที่อาจารย์ธีระบอกว่าเจ็บเกินกว่าที่จะรับได้ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์นี้ แต่เกิดขึ้นมานานและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าน่าเสียดายที่ “Nothing change...Nobody cares”

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ตลอดเช้าวันจันทร์ ฟ้าหม่นๆ ครึ้มๆ เหมือนใจผู้เขียนหลังจากอ่านข่าว "นักเตะก้านคอ"

...อหิวาตกโรคเอ๊ย!!!...

นี่คือคำอุทานที่แว่บมาในสมอง

ถามว่าเพราะอะไร?

ในสายตาอาจารย์หมอคนนึง บอกได้ว่าข่าวนี้มันเจ็บเกินกว่าจะรับได้

สังคมไทยรู้ไหมว่า เด็กๆ ลูกหลานเราเริ่มกังวลกับอนาคตของตนเอง ไม่อยากมาเรียนสาขาสุขภาพ เพราะงานหนัก และมีความเสี่ยงเยอะขึ้นเรื่อยๆ

คนที่มาร่ำเรียนจนจบส่วนใหญ่ก็ด้วยใจรัก ที่อยากดูแลคนเจ็บป่วยให้หายดียิ้มได้ หากจะมีพาณิชย์ก็เป็นส่วนน้อยกว่า

ส่วนใหญ่ทำงานในระบบที่ทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าแบบประเทศตะวันตกที่ร่ำรวย

คุณภาพชีวิตการทำงานเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่จะติดมาจากผู้ป่วยได้ระหว่างการดูแลรักษา

เวลากินไม่ได้กิน เวลานอนไม่ได้นอน ถึงได้นอนก็นอนที่อับคับแคบ เสียงโทรศัพท์ก้องกังวาลเป็นระยะ ถลุงพลังชีวิตล่วงหน้าระยะยาว จนหลายต่อหลายคนเกิดโรคประจำตัวขึ้นมา จนเรียกได้ว่า "งานเปลี่ยนชะตาชีวิต"

ถามว่าเค้าเหล่านั้นทำไปเพื่ออะไร...เงินทองเหรอ?

เฮอะ...ทำอย่างอื่นได้รายได้ดีกว่าเยอะครับ

เค้าทำเพราะ "รักพวกคุณ" "ห่วงใยคุณ" และระลึกถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ตัดสินใจปวารณาตัวมาช่วยดูแลชีวิตคนยามเจ็บป่วยตามรอยสมเด็จพระราชบิดา

สังคมไทยในปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยติดนิสัยอวดเก่ง อวดเบ่ง บ้าอำนาจ หลงใหลกับวัตถุนิยม จนลืมกำพืดและวัฒนธรรมอันดีของไทยที่เคารพเอื้ออาทรกันและกัน จนกลายเป็นกระแสการมองการดูแลรักษาพยาบาลเป็น "การซื้อขายสินค้าและบริการ" โดยไม่สำนึกและสำเหนียกเลยว่า คนสุขภาพนั้นเค้าใช้ "ใจ" เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาคน

คิดมาถึงตอนนี้ มีงานวิจัยเชิงสำรวจในอเมริกาเมื่อสัก 2-3 ปีก่อน มาเล่าให้ฟังว่า วิชาชีพพยาบาลนั้นกว่าร้อยละ 80 พบว่าถูกทำร้ายร่างกายและทำร้ายจิตใจผ่านคำพูดดูถูกเหยียดหยามหมิ่นประมาทจากผู้ป่วย

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า บุคลากรวิชาชีพสุขภาพนี้ถือเป็นวิชาชีพเสี่ยงที่สุดที่จะเกิดเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจระหว่างการทำงานเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในสังคม โดยเกิดเหตุการณ์รวมถึงร้อยละ 70 ของสถิติที่รายงานไว้ทั้งหมดในประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่ทนไม่ไหว และเกิดการรวมตัวเรียกร้องทวงสิทธิและศักดิ์ศรี รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตขึ้นมา และนำมาซึ่งการที่รัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มออกกฎหมายปกป้องคนทำงาน และเอาผิด/ทำโทษผู้ป่วยหรือประชาชนที่ทำร้ายบุคลากรอย่างจริงจัง

ล่าสุดแพทยสภาและทันตแพทยสภาได้ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อเหตุการณ์เตะก้านคอ แต่จัดเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นที่ยังต้องรอเพาะบ่มกันต่อไปในอนาคต

สำหรับผมนั้น ขอถือโอกาสนี้ตะโกนดังๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข รมว.ยุติธรรม ศูนย์ดำรงธรรม รวมถึงประชาชนชาวไทยทุกคนว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานาน และมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เคยมีใครใส่ใจ ไม่มีคนนำหรือเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคุณหมอ คุณพยาบาล รวมถึงบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ

...Nothing change...Nobody cares...

กำลังใจที่ถดถอยลงจะถดถอยกำลังคนในระบบไปเรื่อยๆ...

ข่าวแบบนี้ที่สร้างภาพอันตรายต่อวิชาชีพสุขภาพย่อมจะทำให้ลูกหลานและผู้ปกครองกังวลต่อสวัสดิภาพหากจะมาช่วยดูแลประชาชน...

ถ้าท่านยังนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร...ไม่ลงโทษคนกระทำผิด ก็คงเตรียมใจรับกับระบบสุขภาพไทยที่ขาดแคลนทุกอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิดผลกระทบที่ยากจะคาดเดา

รักพวกเรา ดูแลพวกเรา...

อย่าให้เตะก้านคอแล้วทะลุถึงหัวใจแบบนี้เลยครับ!!!

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง:

http://www.scientificamerican.com/article/epidemic-of-violence-against-health-care-workers-plagues-hospitals/