นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ การโทษผู้ป่วยที่เป็นโรคจากพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเองถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนถูกอิทธิพลการตลาดเบี่ยงเบนการตัดสินใจจนผิดพลาดเสมอ ย้ำรัฐต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง กระแสแนวคิดการโทษคนไข้ที่ป่วยจากพฤติกรรมสุขภาพที่ทำเอง (Victim blaming) ซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในขณะนี้ว่า แนวคิดเรื่องการโทษผู้ป่วยที่เป็นโรคจากพฤติกรรมของตัวเองที่ถูกหยิบยกมาพูด คาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่กองทุนสุขภาพมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการแรกที่ทุกกองทุนหยิบมาใช้คือการทำ Cost Containment (ลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย) แต่เมื่อทำ Cost Containment มาระยะหนึ่ง ประสิทธิผลที่ได้ อาจยังไม่ดีนัก จึงมีการเสนอแนวคิดว่า โรคบางโรคที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ แต่คนๆ นั้นตัดสินใจรับความเสี่ยงด้านสุขภาพเอง ก็ควรต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่ตัวเองตัดสินใจทำ
อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.ธีระ มองว่าโรคทุกโรคเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ 1. ปัจจัยภายในตัวบุคคล เช่น พันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่ เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ฯลฯ ก็ทำให้บุคคลนั้นมีความเสี่ยงตั้งแต่แรก และเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
2.ปัจจัยภายนอกตัวบุคคล เป็นสิ่งที่ถูกยกมาตัดสินใจจะโทษผู้ป่วยว่าตัดสินใจจะบริโภคทั้งๆ ที่ไม่บริโภคก็ได้ อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม พบว่าคนที่ตัดสินใจซื้อหรือบริโภค ไม่ได้ตัดสินใจโดยอาศัยเหตุผลอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งมักตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าใช้อารมณ์มากถึง 80%
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตลาด การโฆษณา มาเป็นตัวเบี่ยงเบนการตัดสินใจ เช่น แพ็กเก็จโทรศัพท์มือถือ งานวิจัยพบว่าหากมีมากกว่า 5 แพ็กเก็จขึ้นไป จะเบี่ยงเบนทำให้การเลือกแพ็กเก็จ ไม่ได้เลือกแพ็กเก็จที่ดีที่สุด หรือ กรณีชาเขียว ซึ่งใช้กลไกการเสี่ยงโชค ทำให้คนซื้อและบริโภคมากขึ้น
“ผลจากการตลาด การโฆษณา ทำให้การตัดสินใจเบี่ยงเบน การตัดสินใจในชีวิตประจำวันมักจะผิดพลาดและเกิดพฤติกรรมเสี่ยงอยู่เสมอ” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
ขณะเดียวกัน เมื่อมีอิทธิพลทางการตลาดมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสูงมาก ถึงจะรู้เช่นนี้ รัฐบาลก็ไม่สามารถจัดการได้ ตัวอย่างเช่น ไม่มีรัฐบาลไหนที่จัดการกับบุหรี่และเหล้าทั้งๆที่รู้ว่าเป็นตัวการทำให้เสียสุขภาพ เพราะมูลค่าธุรกิจที่สูงมาก รัฐมีรายได้ภาษีจากธุรกิจเหล่านี้เยอะ รวมทั้งธุรกิจอื่นๆที่รัฐรู้ว่าไม่ดี แต่กลไกรัฐก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อปัญหาสุขภาพ ด้วยเหตุผลเรื่องการค้าเสรี
ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงการโทษคนๆ หนึ่งว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเอง แต่มาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวรัฐเองที่มอง Benefit ของตัวเองมากกว่าความเสี่ยงของประชาชน ผู้ผลิตก็ได้กำไร และมองเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) เป็นเพียงการเฉือนกำไรบางส่วนมาปลูกป่าหรือเลี้ยงเด็ก แต่ไม่ได้ประเมินผลกระทบว่าผลผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค มีจุดไหนที่เกิดผลด้านลบ รวมทั้งไม่ได้ลดทอนหรือชดเชยผลที่เกิดขึ้น และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ได้ทำตัวหรือบริโภคให้ถูกต้อง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการถูกหลอกล่อโดยสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว
“ดังนั้นการตั้งประเด็นเรื่อง Victim blaming ขึ้นมา แล้วมุ่งเป้าจะให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย หรือจ่ายเองทั้งหมดนั้น จึงถือว่าไม่เป็นธรรม“ ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า อยากเน้นว่า การทำ CSR ของภาคเอกชน อยากให้มองว่าการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนตัวกำไรบางส่วนไปทำกิจกรรมการกุศล แต่โดยเนื้อแท้คือการประเมินตัวเอง ตั้งแต่ตัววัตถุดิบ กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค ว่ามีส่วนใดที่มีผลกระทบและจัดการกับมัน
เช่นเดียวกับตัวนโยบายของภาครัฐ หากคิดว่าไม่มีทางเลือกจากการค้าเสรี หากถูกตัด Benefit จากภาษีแล้วจะไม่มีงบประมาณมาใช้จ่าย แปลว่ารัฐก็ต้องแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ถือเป็นการทำ CSR ของรัฐ ไม่ใช่มองไปที่การทำ Cost Containment เอาแต่ลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ได้คิดอย่างรอบด้าน
- 28 views