ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจในประเด็น ล้ม/ไม่ล้ม 30 บาทว่า แม้ยืนยันว่าไม่ล้ม โดยระบุว่าจะทำให้มั่นคงและยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าจะชี้ให้ชัดว่า ปรัชญาของการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐในตอนนี้ เหมือนหรือต่างจากเดิม เพราะเหตุใด และจะทำได้ดีที่สุดเท่าใด ที่สำคัญคือ เคลียร์ข้อสงสัยของประชาชนเสียทีว่า ท่านกำลังจะทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้กันแน่ เพื่อคลายความแคลงใจของประชาชน และสร้างความมั่นใจสำหรับคนทุกเศรษฐานะ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
"ปรากฏการณ์ในดินแดนอันไกลโพ้น"
วาทะ: "ยืนยันว่าไม่ล้ม...แต่จะทำให้มั่นคงยั่งยืน" คำแปลที่ไม่ยอมแปลให้คนทั่วไปเข้าใจ แต่ดูก้าวย่างที่ดำเนินอยู่นั้นแปลได้ดังนี้:
หนึ่ง คนยากไร้ตามมาตรา xx ที่ยังไม่มีคำจำกัดความชัดเจน ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากรับการดูแลเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่จะกำหนด
สอง คนอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายยากไร้ ต้องร่วมจ่าย
สาม ผลักดันให้จ่ายซื้อประกันเอกชนทุกคน
สี่ ทำทุกทางที่จะรวมกองทุนหลักทั้งสามคือ ข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เอาไว้ในร่มเดียวกัน เพื่อให้คุมครบหมดทั้งนโยบาย งบประมาณ ระบบดูแลรักษา และระบบตรวจสอบติดตาม กำกับ ประเมินผล
คำถามที่น่าคิด:
หนึ่ง จะมีกลไกใดที่จะถ่วงดุล ตรวจสอบ และทานอำนาจ หากการอภิบาลระบบไม่ถูกทำนองคลองธรรมในอนาคต ?
สอง จะมีกลไกใดที่จะลดทอนอำนาจการต่อรองของกลุ่มประกันเอกชน และตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม และจริยธรรมทั้งด้านการแพทย์ ด้านธุรกิจ และด้านสาธารณสุข ?
สาม จะกล้าฟันธงชัดเจนไหมว่าจะออกแบบระบบบริการเพื่อดูแลประชาชนแบบใด ระหว่าง fixed choice, freedom of choice, หรือกึ่งๆ ?
สี่ จะมีกลยุทธ์ และมาตรการล่วงหน้าเพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองต่อวงจรนโยบาย รวมถึงระบบเงิน คน ของ ในอนาคตหรือไม่ ? อย่างไร ?
คำแนะนำ:
หนึ่ง บอกประชาชนมาตรงๆ ให้ชัดเจนพร้อมอธิบายเหตุผล ถึงแผนที่กำลังทำและจะทำในอนาคต ไม่ควรเล่นแง่เล่นคำดังที่ทำมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
สอง ชี้ให้ชัดว่า ปรัชญาของการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐในตอนนี้ เหมือนหรือต่างจากเดิม ? เพราะเหตุใด และทำได้ดีที่สุดเท่าใด ?
สาม เคลียร์ข้อสงสัยของประชาชนเสียทีว่า ท่านกำลังจะทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ? เพื่อที่จะได้คลายความแคลงใจของประชาชน และสร้างความมั่นใจสำหรับคนทุกเศรษฐานะ
สี่ ให้คำแนะนำในการวางแผนชีวิตสำหรับประชาชน จำแนกตามเศรษฐานะ ว่าควรพิจารณาทางเลือกในการดำเนินชีวิตและเตรียมพร้อมรับความเจ็บป่วยอันเป็นสัจธรรมที่เกิดกับทุกคนในอนาคตอย่างไร เพื่อลดภาระทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อประเทศชาติ
ห้า คนเรานั้นล้วนมีอดีตที่เจ็บปวดไม่มากก็น้อย ควรจำไว้เป็นบทเรียน แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อทำร้ายใครต่อใคร หันมาชวนกัน ช่วยกันพัฒนาระบบสุขภาพ คนเราจำกัดอยู่แล้ว การรวมก๊กเหล่าเข้าด้วยกัน หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ประเทศชาติจะยั่งยืน ...ลด ละ เลิกทัศนคติ "T Who T It"... ...จับมือและรักกันเถิดครับ...
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 5 views