“สมคิด” ขอคนสาธารณสุขช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ดึงนักเรียนแพทย์เพิ่มโอกาสคนจนเข้าถึงความรู้สุขภาพ แนะร่วมเอกชนและมหาวิทยาลัยผลิตนวัตกรรมหนุนไทยเป็นฮับการแพทย์ เพิ่มโอกาสเกิดสตาร์ทอัพด้านการแพทย์และสุขภาพ ขอ อย.ปรับการทำงานช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขันประเทศ หลังติดอันดับหน่วยงานแจกใบอนุญาตอืด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างบรรยายพิเศษเรื่องกระทรวงสาธารณสุขกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” ในการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารสุข เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2559 ว่า สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่คือที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศไทยไปติดอยู่กับการขยายตัวของจีดีพีทำให้รัฐบาลที่เข้ามาสนใจแต่นโยบายระยะสั้นเพราะถ้าไม่ทำให้เห็นการเติบโตจะถูกมองว่าล้มเหลว ซึ่งแนวทางการพัฒนายิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ชีวิตของเกษตรกร 20-30 ล้านคนขึ้นอยู่กับราคาพืชผลเกษตร แม้ไทยจะได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income) แต่ความจริงแล้วมีเพียงคนส่วนน้อยที่เป็นคนรวย คนส่วนใหญ่ยังยากจน ซึ่งสถานการณ์ราคาพืชผลตกต่ำใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ จะกระทบกับเอสเอ็มอีและรายใหญ่ในที่สุด
นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการลดความเหลื่อมล้ำลง ซึ่งทำได้ 2 ด้านคือการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ซึ่งอยากให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาช่วยเหลือในส่วนการลดรายจ่ายโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือการมีรถโมบายเคลื่อนที่เข้าไปให้บริการรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนให้ประชาชนทั่วทุกหมู่บ้าน รวมถึงการคิดช่องทางการกระจายความรู้ด้านสุขภาพ (Channel Distribution) ใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดึงนักศึกษาแพทย์แต่ละมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วม
นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการมียุทธศาสตร์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง อาจจะเป็นการสร้างเป็นชุมชนเพื่อดูแลสุขภาพอนามัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ซึ่งล่าสุดก็ได้หารือกับ รมว.คลังไปแล้วว่าต้องการให้มีแนวทางที่จะทำให้คนสูงอายุมีรายได้
“งบประมาณไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดแล้วกระทรวงจะสู้เอางบมาได้ สาธารณสุขไม่ได้มีแค่ 30 บาท เมื่อทำยุทธศาสตร์ชัดแล้วโปรแกรมต่างๆ จะตามมาอีกเยอะมาก กระทรวงอื่นๆ ก็จะออกมาแล้วสามารถทำร่วมกันได้ และอยากให้ทำงานเป็นประชารัฐ คือรัฐ เอกชน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างทำ” นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขคือช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักได้เช่นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) สุขภาพและความงาม (Health and Spa) แต่ไม่ใช่แค่ดึงต่างชาติมาลงทุนจะต้องพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ เพื่อยกระดับให้ประเทศมีอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นไม่ใช่มีแต่ปลูกข้าว ปลูกยาง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นเสาหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ออกมาว่าการจะเป็นฮับทางการแพทย์ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง จากนั้นให้ดึงเอกชนและสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย ซึ่งแนวทางนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ทำสำเร็จมาแล้วในการพัฒนคลัสเตอร์ฟู้ดอินโนโพลิส ที่ต้องดึงเอกชนเข้ามา เพราะโลกธุรกิจในอนาคตตจะถูกขับเคลื่อนด้วยสตาร์ทอัพ ทุกอุตสาหกรรมพัฒนาจากฐานของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการจะไม่ได้มีแต่รายใหญ่ แต่จะมีสตาร์ทอัพสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ถ้าผลักดันให้เป็นฮับในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ก็จะเกิดสตาร์ทอัพขึ้นมามาก แต่ก็ต้องมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาเป็นตัวกลางผลักดันด้วย เช่น กรณีของจีนที่มีมหาวิทยลัยซินหัวร่วมกับเอกชนในการสร้างสตาร์ทอัพขึ้นมาได้เป็น 100 กิจกิจการ โมเดลนี้เกิดขึ้นแล้วทั้งในจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐฯ
“สาธารณสุขสามารถเป็นแกนกลางในการดึงเอกชน มหาวิทยาลัยเข้ามาเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งยา สปา สินค้าสมุนไพร เครื่องมือแพทย์แทนที่จะให้เกิดแบบเปะปะ คราวนี้ทำคุยร่วมกับเลยว่าเอกชนต้องการนวัตกรรมแบบไหน ถ้าทำจริงจังจะได้รับความนิยมสูงทำให้ได้รับมาตรฐาน ทำแบรนด์ให้อินเตอร์ขายได้ทั่วโลกแน่นอน นี่คือวิธีการสร้างเศรษฐกิจคนรุ่นใหม่จะเกิดอาชีพใหม่อีกมาก ทำแบบนี้ยุทธศาสตร์ชัดกระทรวงก็จะได้งบ มหาวิทยาลัยก็ได้ เอกชนก็ได้ธุรกิจ และต่อไปนี้งบจากเอกชนนี่แหละที่จะเข้ามาแทนที่งบของรัฐ” นายสมคิด กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันคือการปรับการทำงานขององค์การอาหารและยา (อย.)ในการอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพราะในการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการแข่งขันของธนาคารโลก ส่วนที่มีการให้ไทยแก้ไขมากที่สุดคือการอนุญาต การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) อีกเรื่องคือการอนุญาตของ อย. ที่ยังมีการบอกว่ามีขั้นตอนมาก ตัวยาบางอย่างหมดอายุของสิทธิบัตรแล้วไทยสามารถผลิตเองได้ก็ยังใช้เวลาขออนุญาตนาน ซึ่งถ้าลดขั้นตอนลงได้ จะสามารถผลิตยาต้นทุนต่ำได้มาตรฐานและประชาชนที่รายได้น้อยก็จะเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ที่ต้องการให้ปรับลดขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการเอาใจเอกชน และถ้าทำให้โปร่งใสก็จะไม่มีใครว่าได้ ซึ่ง อย.อาจจะมีปัญหาเรื่องขาดงบประมาณ ขาดคน ซึ่งถ้าทำยุทธศาสตร์ให้ชัดแล้วรัฐบาลยินดีที่จะเพิ่มให้
- 10 views