สภาเภสัชกรรมเรียกร้องกลไกทางวิชาการและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการที่ไทยจะยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ชี้จะกระทบอุตสาหกรรมยาในประเทศ หลังรองนายกรัฐมนตรี เตรียมยื่น ครม.พิจารณาวันที่ 28 เม.ย.นี้
ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องกลไกทางวิชาการและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการที่ไทยจะยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP รายละเอียดดังนี้
ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 28 เม.ย. นี้
ในการยื่นขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP นั้น ไม่ควรเสนอ ให้หน่วยงานปรับแก้กฎระเบียบให้สอดคล้องกับความตกลง CPTPP ทั้ง ๆ ที่การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มกระบวนการเท่านั้น ควรใช้เงื่อนไขที่ต้องใช้เวลาการปรับแก้กฎระเบียบเพื่อต่อรอง แต่ควรเสนอให้หน่วยงานเสนอเงื่อนไขต่างๆ เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองกับประเทศภาคีต่าง ๆ ให้ไทยได้ผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด
สภาเภสัชกรรมได้ศึกษาติดตามการเจรจาและเนื้อหาของข้อตกลง CPTPP มาโดยตลอด จนถึงฉบับล่าสุดที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกแล้วนั้น แม้ว่าหลายประเด็นในเรื่องสิทธิบัตรที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยาจะถูกถอดออกไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีเนื้อหาอีกหลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขในด้านอื่นอีก เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา บทที่ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนที่ให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ และกรณีสินค้าเหล้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบบุหรี่ ที่ลดภาษีนำเข้าลดลงจนเหลือ 0% และการเข้าร่วมความตกลง UPOV 1991 เป็นต้น
ในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ ประเทศต่าง ๆ มีความระมัดระวัง มีกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และกลไกทางวิชาการ โดยให้หน่วยงานทางวิชาการอิสระและมีความน่าเชื่อถือ ทำการศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ และทำรายงานเสนอต่อรัฐสภาและต่อสาธารณะ เพื่อช่วยให้การเจรจาความตกลงระหว่างประเทศมีความรอบคอบและส่งผลดีโดยรวมต่อประเทศ เช่น รายงานวิเคราะห์เพื่อผลประโยชน์ชาติ (National Interest Analysis, NIA) ของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่เผยแพร่สู่สาธารณะและเสนอต่อรัฐสภา เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เป็นต้น
ประเทศไทยเคยมีกลไกที่สำคัญบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ซึ่งเป็นกลไกที่ดีก่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะรัฐสภาที่เป็นผู้แทนปวงชาชาวไทย ทั้งก่อนการเจรจา ระหว่างการเจรจา และหลังการเจรจา แต่ไม่มีความแน่ชัดในการกำหนดให้มีกลไกทางวิชาการที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ เสนอต่อสาธารณะและรัฐสภา
สภาเภสัชกรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ใช้กลไกเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ในการเริ่มเจรจาขอเข้าร่วม CPTPP เพื่อก่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างกลไกทางวิชาการที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้ โดยต้องทำรายงานการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ เสนอต่อสาธารณะและรัฐสภาก่อนการทำความตกลงระหว่างประเทศ
- 16 views