นักวิชาการ ท้วงรัฐบาลอย่าใช้ช่วงเวลาวิกฤติ “COVID-19” เข้าร่วม ความตกลง “CPTPP” อย่างไม่รอบคอบ หวั่น กระทบ “การควบคุมยาสูบ” ของประเทศไทย ย้ำ ความตกลง CPTPP มีผลกระทบกับภาคสุขภาพอื่นๆ ด้วยไม่ใช่แค่ การควบคุมยาสูบเท่านั้น ยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลกระทบด้วย
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า “ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ของประเทศไทย ตอนนี้ขอให้รัฐบาล อย่าพึ่งให้เห็นชอบเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ขอให้รัฐบาลพิจารณาผลกระทบของกรอบความตกลงให้ชัดเจนเสียก่อน ความน่ากังวลของความตกลง CPTPP กับการควบคุมยาสูบ คือ ปัญหาลำดับศักดิ์ของ ความตกลง CPTPP กับ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ว่า ความตกลงระหว่างประเทศฉบับใดจะมีข้อบังคับเหนือกว่า
เพราะในเนื้อหาของ CPTPP มีหลายกรณีที่อาจขัดต่อ FCTC ไม่ว่าจะเป็นข้อบทที่ 8 ที่ว่าด้วยความตกลงอุปสรรคเทคนิคทางการค้า ที่เปิดช่องให้การออกกฎระเบียบใดๆ ภาครัฐต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎเกณฑ์ กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ซึ่งกรณีถ้า ฝ่ายสุขภาพ ต้องการออกมาตรการควบคุมยาสูบใดๆ ซักเรื่อง ก็อาจจะต้องให้บริษัทบุหรี่เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ซึ่งขัดต่อ FCTC มาตรา 5.3 ชัดเจน ในเรื่องการปกป้องนโยบายควบคุมยาสูบจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ
ที่สำคัญข้อบทที่ว่าด้วยความตกลงอุปสรรคเทคนิคทางการค้า เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดีการค้าระหว่างประเทศที่องค์การการค้าโลก ตอนที่ประเทศออสเตรเลียออกมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบด้วย ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็น่าเป็นห่วง เพราะไม่มีข้อยกเว้นกรณีสำหรับการใช้เพื่อโรคไม่ติดต่อ ซึ่งข้อยกเว้น ดังกล่าวนี้ ก็เคยถูกใช้ตีความเพื่อการควบคุมยาสูบด้วย เพราะ “ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ”
ดร.วศิน กล่าวต่อว่า ความตกลง CPTPP มีผลกระทบกับภาคสุขภาพอื่นๆ ด้วยไม่ใช่แค่ การควบคุมยาสูบเท่านั้น ยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีผลกระทบด้วย จึงวอนขอรัฐบาล อย่าพึ่งใจร้อนตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบถึงมิติทางสุขภาพและสังคมของประเทศไทย
- 28 views