หมอสูติฯ รพ.โชคชัย แนะผลิตและกระจายสูติแพทย์ให้ทั่วถึงแก้ปัญหาฝากครรภ์พิเศษ ชี้ สสจ.สิงห์บุรีออกหนังสือห้าม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี กระตุ้นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ลดหรืองดการรับฝากพิเศษและจัดระบบให้เหมาะสม เป็นตัวอย่างหมอรุ่นใหม่

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูติแพทย์ โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา ให้ความเห็นถึงการรับฝากครรภ์พิเศษว่า การฝากครรภ์พิเศษในที่นี้ หมายถึงการตกลงกับแพทย์ที่จะให้แพทย์ท่านนั้นรับเป็นเจ้าของไข้ ดูแลจนตลอดการตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่จะมีการตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้หลังจากการดูแลสิ้นสุดลง เท่าที่ทราบมีการปฏิบัติกันมานานมาก แพร่หลายทั้งประเทศในโรงพยาบาลรัฐบาลทุกระดับ ตั้งแต่ในโรงเรียนแพทย์ จนถึงโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งระบบนี้ว่าไปแล้วแพทย์สาขาอื่นๆ บางสาขาก็มีการปฏิบัติเช่นกัน แต่ปัญหาอาจจะไม่รุนแรงเท่า

ข้อดีของการฝากพิเศษสำหรับผู้ฝากครรภ์คือ มั่นใจว่ามีสูติแพทย์ที่เชื่อถือรับผิดชอบ ดูแลให้ตลอดการตั้งครรภ์ มีช่องทางการติดต่อโดยตรงเมื่อเกิดปัญหา และเนื่องจากมาตรฐานการดูแลสตรีตั้งครรภ์ของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน ในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป ผู้ป่วยอาจได้พบแพทย์เพียง 1-2 ครั้ง ที่เหลือดูแลโดยพยาบาลผดุงครรภ์ การฝากพิเศษจึงลดความไม่สบายใจของผู้ป่วยได้

นอกจากนั้นโรงพยาบาลบางแห่ง มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม เช่น สตรีตั้งครรภ์ทั่วไปดูแลโดยพยาบาลผดุงครรภ์ หรือรายงานแพทย์เวรตามระบบเท่านั้น ขณะที่สตรีตั้งครรภ์ฝากพิเศษดูแลโดยสูติแพทย์เจ้าของไข้เอง มีคิวผ่าตัดเร็วกว่า ข้อบ่งชี้การผ่าตัดง่ายกว่า ได้ห้องพิเศษเร็วกว่า หรือแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การลงแผลผ่าตัด หากฝากพิเศษจะผ่าท้องด้วยแผลตามขวางเย็บด้วยไหมละลายหรือติดด้วยกาวพิเศษ แต่ในรายทั่วไปจะลงแผลกึ่งกลางหน้าท้อง เย็บด้วยไนลอนเป็นรอยตีนตะขาบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การฝากพิเศษก็มีข้อเสีย เช่น มีโอกาสต้องผ่าตัดคลอดสูงมาก เพราะสูติแพทย์หลายคนไม่ต้องการทำคลอดทางช่องคลอด เนื่องจากบริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่สามารถรอจนคนไข้เจ็บท้องแล้วค่อยมาทำคลอดได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่อยากคลอดตามธรรมชาติหากจะฝากพิเศษต้องเลือกสูติแพทย์ให้ดีและตกลงกันไว้ก่อน หรือกรณีถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น หากหมอที่รับฝากพิเศษยังไม่มาตรวจ ก็จะต้องรอจนหมอเจ้าของไข้มาถึงก่อนจะทำการรักษา หมอที่อยู่เวรจะไม่กล้าตัดสินใจใดๆ ทำให้คนไข้ได้รับการดูแลรักษาล่าช้า อาจทำให้อาการแย่ลง เกิดผลเสียทั้งกับแม่ทั้งลูกได้ เช่นที่เคยเกิดกรณี ร้องเรียนหลายครั้ง

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวอีกว่า การรับฝากครรภ์พิเศษ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่นั้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาเหตุผลที่สูติแพทย์รับฝากพิเศษ บางคนอาจจะตั้งใจช่วยเหลือคนไข้ บางคนเกรงใจคนไข้หรือญาติที่พามาฝากท้อง บางคนต้องการดูแลคนไข้ที่มาฝากท้องที่คลินิกอย่างต่อเนื่อง และอีกส่วนที่ปฏิเสธไม่ได้ คือต้องการค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

“ถ้าการรับฝากพิเศษตั้งอยู่บนเงื่อนไขการดูแลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้การดูแลเคสทั่วไปและเคสที่ฝากพิเศษด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ไม่เบียดบังทรัพยากรส่วนรวม เช่น ไม่ผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้หรือผ่าตัดนอกเวลาทั้งที่ไม่รีบด่วน ไม่เรียกรับค่าตอบแทนพิเศษในการดูแล หากจะมีการมอบค่าตอบแทนให้ ควรจะมีความหมายเป็นรางวัลหรือของกำนัลที่มอบให้โดยเสน่ห์หา มากกว่าเป็นค่าจ้างที่คนไข้จำเป็นต้องจ่ายและไม่ควรมีมูลค่าเกินกว่าครั้งละ 3,000 บาท ตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2543 ถ้าเป็นไปตามนี้ก็น่าจะยอมรับการฝากครรภ์พิเศษได้ แต่ถ้าผิดจากนี้อาจจะเข้าข่ายทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” สูติแพทย์ รพ.โชคชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ อาจารย์แพทย์และสูติแพทย์หลายท่านสามารถบริหารจัดการ รักษามาตรฐาน ดูแลคนไข้อย่างดีเท่าเทียมกัน เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม แต่ที่มีปัญหาก็มีมากเช่นกัน บางโรงพยาบาล สูติแพทย์บางท่านจะไม่ตรวจคนไข้ที่ไม่ได้ฝากพิเศษเลย โยนภาระทั้งหมดให้กับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งยังมีประสบการณ์น้อยมาก การตัดสินใจและดูแลรักษาก็อาจผิดไปจากที่ควร บางโรงพยาบาลมีปัญหาหมอทะเลาะกับพยาบาล ทะเลาะกับหมอคนอื่น เพราะผ่าตัดนอกเวลา ไปแซงคิวผ่าตัด หรือทำในเวลาแต่เบียดบังทรัพยากรส่วนรวม ตลอดจนละทิ้งหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ เช่น ต้องออกตรวจคนไข้นอก แต่ก็มาผ่าตัดคนไข้ฝากพิเศษแทน ทิ้งภาระตรวจคนไข้นอกให้หมอคนอื่น บางโรงพยาบาลแย่กว่านั้น เช่น ไม่ให้คนไข้กลับบ้านก่อนจะให้เงินพิเศษ แพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์ประจำบ้านถูกตำหนิเพราะอนุญาตให้คนไข้ที่ฝากพิเศษที่ยังไม่ให้ซองกลับบ้าน หรือมีปากเสียงกับคนไข้ที่ไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามที่ตกลง เป็นต้น

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การรับฝากพิเศษที่ผ่านมามีลักษณะสีเทาๆ หมอบางคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมีคำแถลงจาก ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และหนังสือเวียนของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการชี้ชัดออกมาว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรปฏิบัติ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าระบบฝากพิเศษจะยังอยู่คู่กับวงการแพทย์ไทยไปอีกนาน เนื่องจากเป็นเรื่องสมประโยชน์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ เพียงแต่จะมีการปรับทำให้ถูกต้องมากขึ้น น่าเกลียดน้อยลงไปบ้าง ลำพังแค่คำสั่งห้าม คงแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถ้าบังคับอย่างเดียวโดยไม่ปรับปรุงเรื่องอื่นๆ ผลที่ตามมาอาจทำให้รัฐบาลเสียสูติแพทย์ที่มีประสบการณ์ออกไปอยู่นอกระบบแทน

“ในฐานะหมอสูติฯ มีข้อเสนอแนะว่า คำสั่งห้ามต่างๆ อาจได้ผลบ้างแต่ไม่สามารถตัดวงจรนี้ได้ ปัญหานี้จะแก้ไขได้จริงก็ต่อเมื่อเราสามารถผลิตและกระจายสูตินรีแพทย์ให้ทั่วถึง สามารถดูแลคนไข้ทุกคนด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกันเท่านั้น ตราบใดที่การรักษาของประเทศเรายังเป็น 2 มาตรฐาน คนไข้คนหนึ่งไปนอนโรงพยาบาลแล้วหมอดู กับอีกคนไปนอนแล้วพยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ฝึกหัดดู ทุกคนก็จะพยายามจ่ายเงินหรือหาช่องทางให้ได้รับบริการที่ตัวเองมั่นใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในโรงพยาบาลเอกชน หรือในประเทศที่การบริการทางแพทย์ใด้มาตรฐานเดียวกัน ปัญหาการฝากพิเศษแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย นั่นก็เพราะทุกคนเข้าถึงบริการที่ดีแล้วนั่นเอง แต่การผลิตและกระจายสูติแพทย์ให้ทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลให้แพทย์เหล่านั้นทำงานได้ คงต้องใช้เวลาและการลงทุนทรัพยากรต่างๆ อีกมาก”นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสูติแพทย์น่าจะไม่ถึง 3,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ โรงเรียนแพทย์ และภาคเอกชน หากนับจำนวน รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป กล่าวได้ว่า 80% ของ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีสูติแพทย์ประจำ ใช้ระบบส่งต่อเข้า รพ.จังหวัด หากประเมินจากอัตราแพทย์ต่อจำนวนประชากร เรายังขาดแคลนสูติแพทย์จำนวนมาก และมีปัญหาในเรื่องการกระจุกตัวในเมืองใหญ่

สูติแพทย์ รพ.โชคชัย กล่าวอีกว่า เป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันสูติแพทย์รุ่นใหม่จำนวนมากไม่ต้องการรับฝากพิเศษ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและกังวลกับการฟ้องร้อง แต่รัฐอาจต้องปรับเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อดูแลน้องๆ เพราะรายได้ของสูติแพทย์จบใหม่ รพ.จังหวัด ถ้าไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวเลย รายได้ทุกอย่างรวมค่าเวร-ค่าตอบแทน อาจน้อยกว่ารายได้ของแพทย์เพิ่มพูนทักษะตามโรงพยาบาลชุมชนถึงเกือบหนึ่งเท่าตัว เวลาถูกตามนอกเวลาราชการ ทำคลอดเคสมีปัญหาได้เพิ่มครั้งละ 400 บาท ผ่าตัดคลอดได้ 800 บาท แพงสุดคือต้องตัดมดลูกได้ 1,200 บาท เทียบกับภาคเอกชน ซึ่งเริ่มต้นด้วยรายได้ขั้นต่ำ 2-3 แสนบาท ค่าตอบแทนการทำหัตถการ ทำคลอดอาจเริ่มต้นที่ 5 พัน หรือหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งต่างกับของรัฐบาลมาก ดังนั้นถ้าสามารถดูแลให้มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ดูแลสูติแพทย์รุ่นใหม่ๆ เหล่านี้ให้อยู่ในระบบได้ และสร้างแรงจูงใจให้มาดูแลคนไข้ทั่วไปมากขึ้น ปัญหาฝากพิเศษน่าจะลดลง และคนไข้จะปลอดภัยขึ้นแน่นอน

“นอกจากนี้จำเป็นต้องแก้ไขที่โรงเรียนแพทย์ซึ่งเป็นเบ้าหลอมของหมอทั้งหลาย หมอรุ่นใหม่ไม่ควรจะจบออกมาโดยมีทัศนคติว่าการรับฝากพิเศษเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถ้าจะเริ่มงดหรือห้ามฝากครรภ์พิเศษ อาจเริ่มต้นที่โรงเรียนแพทย์ก็ได้ เพราะมีทรัพยากรมากเพียงพอ สามารถดูแลคนไข้ให้ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็ทำให้น้อยลงกว่านี้ เพราะหากอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ทำให้เห็น ลูกศิษย์ก็จะมองว่านี่เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นอาจารย์และสถาบันการศึกษาควรมีหน้าที่ปลูกฝังค่านิยมและการปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับลูกศิษย์ด้วย”

ทั้งนี้ นพ.แมนวัฒน์ ย้ำทิ้งท้ายว่า ตนเองให้ความเห็นในมุมมองของสูติแพทย์โรงพยาบาลชุมชน ที่ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว พยายามดูแลคนไข้ทุกคนให้ดีเท่าที่ทำได้ ไม่ได้ต้องการค่าตอบแทนใดๆ เพิ่มให้ตนเองทั้งสิ้น ซึ่งความเห็นต่างๆ นี้อาจไม่ได้สะท้อนความคิดของสูติแพทย์ทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นพ.สสจ.สิงห์บุรีโดนกดดันหนักหลังห้ามเก็บค่าฝากครรภ์พิเศษ