สธ.หนุนการใช้นวัตกรรมเพื่อปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุข เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมร่วมเดินหน้านโยบาย Thailand 4.0 พัฒนาประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าทางนวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยีและธุรกิจสุขภาพ พัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และการแพทย์แผนไทย ด้วยภูมิปัญญาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการแพทย์ไทย พร้อมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมยา เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เนื่องจากร้อยละ 41 ของ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นค่ายา
วันที่ 13 มิถุนายน 2559 ที่อาคารศรีสวรินทิรา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ. 2559 “Innovation in Health” จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในปี 2559 เน้นหนัก 3 ด้าน คือ
1.การพัฒนาสุขภาพตามกลุ่มวัย ดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงการดูแลในระยะสุดท้าย
2.การพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการได้
และ 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการบริการ
ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพหุภาคีและทุกภาคส่วนในสังคม มีการประเมินวัตกรรมและเทคโนโลยี และมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพประชาชน เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ระบบสุขภาพยั่งยืน โดยเฉพาะการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายความเป็นเลิศใน 4 ด้าน คือ
1.การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค (Prevention and Promotion Excellence) ที่เป็นนวัตกรรมสังคม มีหลักการในการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นหัวใจของการสาธารณสุข
2.ระบบบริการ (Service Excellence) ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยทุกระดับ
3.การพัฒนาคน (People Excellence) ฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับ
และ 4.ระบบบริหารจัดการ (Governance Excellence)
หากประสบความสำเร็จทั้ง 4 ด้าน ก็จะเกิดเป็นนวัตกรรมของระบบการแพทย์และสาธารณสุข เป็นตัวอย่างนานาประเทศต่อไป
“กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นนวัตกรรมตามมติของคณะกรรมการระบบยาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การใช้ยาทุกชนิดอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ จะช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข ใน 10 – 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยานับสิบล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชีย รวมทั้งช่วยลดงบประมาณและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการซื้อยาจากต่างประเทศ” นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย ประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 พัฒนาประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าทางนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนนโยบายนี้ ด้วยเทคโนโลยีและธุรกิจสุขภาพ พัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และการแพทย์แผนไทย ด้วยภูมิปัญญาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการแพทย์ไทย พร้อมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมยา เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เนื่องจากร้อยละ 41 ของ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นค่ายา
สำหรับที่ผ่านมาความสำเร็จด้านนวัตกรรมสาธารณสุข คือ
1.การมีอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 1.2 ล้านคน ช่วยให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง และจะพัฒนาต่อยอดให้มีอาสาสมัครประจำครอบครัวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน
2.จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีผู้จัดการสุขภาพ และผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน จัด Primary Care Cluster (PCC) ดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3 ทีมต่อประชากร 30,000 คน จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
3.การจัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยใช้สหวิชาชีพดูแลเรื่องการออกกำลังกายและอาหาร
4.นวัตกรรมเพื่อลดการบาดเจ็บจากการจราจร ด้วยการจัดการฐานข้อมูล ชี้จุดเสี่ยง เพิ่มศักยภาพในการรักษาฉุกเฉินได้อย่างทันเวลา ตั้งศูนย์รองรับอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล และใช้สื่อออนไลน์ช่วยผู้ประสบภัยเข้าถึงบริการได้ทันเวลา
5.โครงการเด็กไทยสายตาดี ตรวจคัดกรองและมอบแว่นตาแก่เด็ก ป.1 ที่มีสายตาผิดปกติทั่วประเทศ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และ 3 กองทุนสุขภาพ ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เป็นต้น
- 16 views