การวางแผนด้านกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยในอนาคต...

วันนี้ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับการวางแผนจัดการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับทศวรรษหน้า

โจทย์เรื่องแผนจัดการกำลังคนด้านสุขภาพสำหรับอนาคตนั้นท้าทายยิ่งนัก ยิ่งหากมีเวลาจำกัดยิ่งยากเป็นทวีคูณ แต่เห็นทางทีมงานตั้งใจทุ่มเททำงานแล้วก็ชื่นชม แต่ให้คำแนะนำไปดังนี้

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

1.การจะวางแผนผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพต่างๆ ทั้งหมอ พยาบาล เภสัช ทันตะ และสาธารณสุข ควรจะวางแผนโดยเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เข้าใจสถานการณ์อดีตถึงปัจจุบัน แต่จะต้องครอบคลุมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ควรจำกัดเฉพาะการดูข้อมูลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะสุดท้ายอาจได้เพียงแผนที่ล้าสมัยหรืออาจไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ในอนาคตตามที่ตั้งเป้าไว้

2.ไม่ควรมุ่งแต่คำนวณตัวเลขเพื่อหวังจะรีบนำส่งไปยังฝ่ายนโยบาย เพราะมีความเสี่ยงที่สมมติฐานหลายอย่างที่ตั้งต้นขึ้นจากข้อมูลอดีตนั้นอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในอนาคต อะไรที่ไม่แน่ใจหรือไม่มีข้อมูล อย่ามโนขึ้นมาหรือติ๊งต่างว่าอะไรๆ จะเหมือนอดีต...จำไว้ว่า เวลาผ่านไป ทั้งคนและหลายสิ่งหลายอย่างแวดล้อมย่อมต้องเปลี่ยนไปด้วยไม่มากก็น้อย คนรับกรรมมักไม่ใช่คนสร้างหรือผลักดันนโยบาย แต่จะเป็นทั้งบุคลากรสุขภาพที่ถูกผลิตขึ้นมา และประชาชนนั่นเอง

3.พึงระลึกไว้เสมอว่า หากเริ่มต้นผลักดันนโยบายด้วยตัวเลขที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะเปรียบเหมือนต้นน้ำที่จะแตกไปเป็นปลายน้ำที่อาจไม่ได้รับการใช้จากกลุ่มเป้าหมายในอนาคต แถมจะเกิดผลกระทบต่อบุคลากรในระบบสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง อะไรชัวร์ว่าดีค่อยชง

4.ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงมิติความต้องการของประชาชน ผู้ป่วย รวมถึงคนทำงานในระบบ มิใช่มุ่งแต่ออกแบบระบบแบบบนลงล่าง (top down) เพราะจะมีผลอย่างยิ่งต่อผลการดำเนินงาน และการรักษาคนทำงานไว้ในระบบ

5.ควรรวบรวมหลักฐานงานวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่กำหนดสุขภาวะของประชากร ดังที่ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลด้านการสาธารณสุขปีนี้ได้นำเสนอในชื่อที่รู้จักกันดีว่า Social determinants of health

สังคมในปัจจุบันนั้นอ่อนไหวเปราะบางในหลายเรื่อง เราต้องช่วยกันสร้างนโยบายสาธารณะที่มีเหตุผล ไม่มโนเกินงาม และเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลูกหลานเราหลายคนอาจไปเป็นบุคลากรด้านสุขภาพ ในขณะที่ทุกคนจะกลายเป็นผู้มารับการดูแลรักษาพยาบาลในอนาคตไม่ช้าก็เร็ว จำนวนตัวเลขเป็นเรื่องสำคัญเท่าๆ กับคุณภาพ ดังนั้นไม่ควรรีบด่วนผลักดันในสิ่งที่ไม่ชัวร์ หรือมีความเสี่ยงสูงต่อสาธารณะ

สถานการณ์ตอนนี้ หากผมทำ ผมคงจะชงข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะดูแลกำลังคนด้านสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตและสมดุลชีวิต มีความสุขในการทำงาน เสริมสร้างทรัพยากรในระบบที่เอื้อต่อประสิทธิภาพในการทำงานและเกิดความปลอดภัยในการดูแลรักษาต่อผู้ป่วย เพื่อรักษาบุคลากรที่ทรงคุณค่าเหล่านั้นไว้...บอกไปเลยว่าควรใช้ M44 เพื่อปลดล็อคอะไรบ้างเพื่อให้ทำได้จริงในระยะสั้นนี้

ส่วนตัวเลขแผนการผลิตบุคลากรระยะยาวนั้น เนรมิตภายในไม่กี่เดือนไม่ได้หรอกครับ กระบวนการมีส่วนร่วมของตัวแทนสหสาขาวิชาชีพ และคนทำงานจริงในพื้นที่ในแต่ละระดับ ทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ไปจนถึงตติยภูมินั้นต้องทำให้เกิดขึ้นและสรุปผลมาเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีที่มาที่ไป และสมเหตุสมผลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

น่าท้าทาย และน่าติดตาม เอาใจช่วยครับ

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย