BBC News : ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ชี้ว่า การเข้ารักษาในโรงพยาบาลยิ่งทำให้เราอ่อนแอและห่างไกลจากการมีสุขภาพดี ทั้งยังทำให้เรามีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเจ็บป่วยอีกครั้งหลังออกจากโรงพยาบาล ถึงขั้นที่ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล อดรนทนไม่ไหวต้องออกมาเรียกร้องให้ทบทวนแนวทางการดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ

โดยทั่วไปแล้วทั้งผู้ป่วยและแพทย์ต่างก็คาดหวังที่จะไม่ต้องเจออีกฝ่ายเร็วเกินไปนักภายหลังจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน แต่ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าอัตราการรับเข้ารักษาซ้ำภายใน 1 เดือนในสหรัฐอเมริกามีตัวเลขอยู่ที่ราว 1 ใน 5 ซึ่งแม้ตัวเลขในอังกฤษอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประมาณร้อยละ 7 แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่บริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายถึง 2,400 ล้านปอนด์ในระหว่างปีงบประมาณ 2555-2556

อัตราการรับเข้ารักษาซ้ำมักใช้เป็นมาตรวัดคุณภาพการดูแลรักษาของโรงพยาบาลทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษรวมถึงในอีกหลายประเทศ แต่เมื่อ นพ.ฮาร์แลน ครุมโฮลซ์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและประเมินผลลัพธ์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์เยล ถามเรื่องอัตราการรับเข้ารักษาซ้ำกับแพทย์ กลับได้คำตอบที่ชวนให้อึ้ง

“แพทย์จะถามผมกลับว่า ‘จะมาตำหนิผมได้ยังไง ก็ในเมื่อผู้ป่วยกลับมาอีกเพราะปอดอักเสบจากตอนแรกที่มาเพราะหัวใจล้มเหลว เรื่องหัวใจล้มเหลวก็ดูแลให้แล้วนี่ ที่ผู้ป่วยกลับมาเพราะปอดอักเสบมันไม่ใช่ความผิดของเราสักหน่อย!’ ” นพ.ครุมโฮลซ์กล่าว “หรือไม่ก็โต้กลับมาว่า ‘จะมาโทษผมทำไมกับเรื่องผู้ป่วยหกล้ม มันใช่ความผิดผมรึ’ ”

ข้อมูลสถิติช่วยให้ นพ.ครุมโฮลซ์รู้ว่า อัตราการรับเข้ารักษาซ้ำที่สัมพันธ์กับสาเหตุเดิมของการเข้าโรงพยาบาลมีเพียง 1 ใน 3 สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งนั้นหลากหลายและเกี่ยวพันกับทั้งระบบภูมิคุ้มกัน การทรงตัว การรับรู้ ความแข็งแรง การเผาผลาญพลังงาน และระบบทางเดินหายใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความสมบูรณ์ทั้งกายและจิตต่ำกว่าปกติ แต่ถึงกระนั้น นพ.ครุมโฮลซ์ก็สงสัยว่า ประสบการณ์เข้าโรงพยาบาลครั้งล่าสุดนั่นเองหรือไม่ ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะอ่อนไหวต่อโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุ

นพ.ครุมโฮลซ์ได้รวบรวมข้อคิดเห็นในวารสารการแพทย์ชั้นนำหลายฉบับและเสนอทฤษฎี “กลุ่มโรคหลังออกจากโรงพยาบาล” หรือ post-hospital syndrome (PHS) ซึ่งเขาให้นิยามว่าเป็น “การมีความเสี่ยงสูงขึ้นในระยะหนึ่ง”

“อาจพูดได้ว่า กลุ่มโรค PHS นี้เป็นผลลัพธ์สะสมของเหตุนานาประการที่รุมกระทำต่อร่างกาย จากความเครียดที่พุ่งเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง” นพ.ครุมโฮลซ์กล่าว “เราทำอะไรกับผู้ป่วยบ้างล่ะครับ? เราทำให้เขาอดนอน อดอาหาร ทำให้เครียด  รบกวนรูปแบบการนอน บังคับให้นอนพักบนเตียง และปรับสภาวะของเขาใหม่ ทำให้สับสนกับบุคลากรมากหน้าหลายตาและตารางกิจกรรมใหม่ เรียกได้ว่าผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยครับ”

อีกด้านหนึ่งมีข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยผ่าตัดไส้เลื่อนราว 58,000 คนในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งพบกลุ่มย่อยของผู้ป่วย 1,332 รายที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในระยะ 90 วันก่อนการผ่าตัด     

จากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มย่อยดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเข้าห้องฉุกเฉินสูงขึ้นราว 2 เท่า ขณะที่มีความเสี่ยงต่อการรับเข้ารักษาแบบผู้ป่วยในสูงขึ้นเป็น 5 เท่าภายในระยะ 30 วันหลังการผ่าตัดไส้เลื่อน และดูเหมือนว่า การรักษาในโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มย่อยเกิดอาการ “เครื่องรวน” จนมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดไส้เลื่อน ทั้งที่เป็นกระบวนการรักษาที่ไม่ซับซ้อนและจบในวันเดียว โดยเสนอแนะด้วยว่า แพทย์จะต้องยับยั้งแรงปรารถนาที่จะซ่อมแซมปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยด้วยกระบวนการอันรวดเร็ว แต่ควรทอดระยะระหว่างการผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลาฟื้นตัว

“ข้อมูลที่พบทำให้เกิดสมมติฐานตามมาครับ” นพ.พอล คูโอ หัวหน้าภาคศัลยศาสตร์ของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโลโยลาในรัฐอิลินอยส์ของสหรัฐฯ ผู้ตรวจสอบงานวิจัยกล่าว พร้อมกับเสนอแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของกลุ่มโรค PHS และยืนยันความเชื่อมโยงกับอัตราการรับเข้ารักษาซ้ำ

แต่อีกด้านหนึ่ง นพ. ครุมโฮลซ์มองว่า สิ่งที่โรงพยาบาลควรทำไม่ใช่การศึกษาปัญหา หากแต่เป็นการลงมือแก้ปัญหา  โดยเฉพาะการปรับปรุงประสบการณ์ที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลในฐานะมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการติดเชื้อในโรงพยาบาล

จากบทความที่เขียนร่วมกับ นพ.อัลลัน เดตสกี แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตนั้น นพ.ครุมโฮลซ์ ได้ไล่เรียงข้อเสนอแนะสำหรับลดความกดดันในโรงพยาบาลไว้หลายสิบข้อ เช่น ทำไมโรงพยาบาลต้องเย็นชา? ทำไมหอผู้ป่วยถึงไม่อบอุ่นเหมือนในโรงพยาบาลเด็ก? ทำไมเดี๋ยวนี้ต้องเจาะเลือดถี่? และทำไมอาหารโรงพยาบาลถึงต้องมีรสชาติเหลือรับประทาน?

นพ.ครุมโฮลซ์ เผยว่า สำหรับวิชาชีพของเขา โรงพยาบาลไม่ใช่เรือนพักฟื้น หากแต่เป็นสนามรบที่บุคลากรการแพทย์เข้าฟาดฟันกับโรคภัยและการบาดเจ็บ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครมาแยแสกับเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้นว่า ผู้ป่วยอาจต้องอดอาหาร 4-6 มื้อหากมีคิวผ่าตัดในช่วงค่ำและมีเหตุจำเป็นให้ต้องเลื่อนไปผ่าในช่วงค่ำวันต่อมา ซึ่งแม้จะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ร้ายแรงอะไร แต่ปัญหาดินพอกหางหมูนี้ก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงเมื่อต้องขับเคี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายกาจกว่าเดิม

นพ.ครุมโฮลซ์ ยังชี้ด้วยว่า ตัวระบบของโรงพยาบาลนั่นเองที่มุ่งรับใช้บุคลากรของตนแทนที่จะเน้นให้บริการแก่ผู้ป่วย โดยได้ยกกรณีตัวอย่างที่เราอาจคุ้นเคยกันดี เช่น แพทย์แจ้งกับผู้ป่วยระหว่างการออกตรวจในช่วงเช้าว่าจะแวะมาดูอาการอีกครั้งในช่วงบ่ายเพื่อที่จะแจ้งผลตรวจหรือปรึกษากัน แต่เนื่องจากเป็นการนัดโดยไม่ได้ระบุเวลาที่ชัดเจนจึงทำให้ผู้ป่วยและในบางครั้งก็อาจรวมไปถึงญาติ ต้องรอไปตลอดช่วงบ่ายเพราะกลัวจะพลาดนัดกับแพทย์หากลุกไปจากเตียง 

“ระบบมันทำให้เราสามารถพูดว่า ‘ผมไปถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั่นล่ะคุณ’ ” นพ.ครุมโฮลซ์ ชี้  “ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่านี่เป็นการลุแก่อำนาจในรูปแบบหนึ่ง”

แน่นอนว่าท้ายที่สุดแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ก็ต้องเผชิญกับประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้ป่วยในเข้าสักวัน เพียงแต่เวลานั้นมาถึงเร็วไปสักหน่อยสำหรับ พญ.เคต แกรนเจอร์ แพทย์ฝึกหัดวัย 29 ปีในแคว้นยอร์คเชียร์ของอังกฤษซึ่งตรวจพบมะเร็งชนิดหายาก  โดยพญ.แกรนเจอร์ได้รับฟังพยากรณ์โรคว่าตนเองเหลือเวลาอีกเพียง 12-18 เดือนเท่านั้น

พญ.เคต แกรนเจอร์

“บางครั้งฉันก็ได้รับการดูแลรักษาที่ดีมาก แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนฉันอยู่ตัวคนเดียวอยู่ในโรงพยาบาล” พญ.แกรนเจอร์ เผย “และหลายครั้งก็เหมือนกับฉันไม่มีตัวตน เป็นเพียงแค่ ‘แม่สาวที่เป็นมะเร็งหายาก’ โดยที่ไม่มีคุณค่าอย่างอื่นหลงเหลืออยู่เลย”

พญ.แกรนเจอร์ เองก็ได้รับการตรวจที่หอผู้ป่วย ซึ่งแพทย์และนักศึกษาแพทย์กลุ่มใหญ่มารายล้อมอยู่รอบเตียง “ลองคิดดูสิคะว่าน่าอายขนาดไหน เราก็สภาพแบบนี้แถมยังอยู่ในชุดนอนแต่กลับมีคนมายืนดูเราเป็นฝูง” เธอกล่าว

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ “ได้คิด” ก็มาถึงเมื่อ พญ.แกรนเจอร์ ได้รับการนำส่งห้องฉุกเฉินเนื่องจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดหลังการผ่าตัด 2- วันหลังจากที่เข้าโรงพยาบาลจึงเพิ่งมีคนงานมาทักทายแนะนำตัวเอง ต่างจากแพทย์และพยาบาลกว่า 10 คนซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่วางทีท่าเฉยเมย

“ฉันรู้สึกแย่มาก” เธอเผย “คนพวกนี้มาทำอะไรต่อมิอะไรกับร่างกายฉัน แล้วเขาเป็นใครกัน?”

พญ.แกรนเจอร์ ทวีตประสบการณ์ที่เธอได้รับพร้อมแฮชแท็ก #hellomynameis จนไม่นานต่อมาจึงมีการรณรงค์ครั้งใหญ่ให้บุคลากรของ NHS แนะนำตนเอง โดยได้รับความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงจากคนใหญ่คนโตในวงการแพทย์อังกฤษ

“การแนะนำตัวเป็นก้าวแรกของการแสดงความเห็นอกเห็นใจค่ะ เหมือนกับว่าเมื่อคุณแนะนำตัวเองก็จะทำให้คุณมองคนที่อยู่ตรงหน้าในฐานะเพื่อนมนุษย์” พญ.แกรนเจอร์กล่าว “ความสัมพันธ์จะต้องเริ่มจากการเปิดใจให้กันเสียก่อน การไม่แนะนำตัวเองก็ไม่ต่างอะไรกับการซ่อนอยู่ใต้หน้ากากบุคลากรนิรนาม”

ทั้งที่มีพยากรณ์โรคชวนให้ใจหายแต่ พญ.แกรนเจอร์ก็รณรงค์อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้วนับตั้งแต่ตรวจพบมะเร็ง และเพิ่งปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษา (แพทย์อาวุโส) เมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงแม้ พญ.แกรนเจอร์เข้าปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทุกวันก็ยังสารภาพว่าเธอไม่อาจทนพักเป็นผู้ป่วยในได้นานเกิน 3 วัน เพราะนั่นทำเธอรู้สึก “เริ่มจะเป็นบ้า”

พญ.เคต  แกรนเจอร์ อวดเครื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเอ็มบีอี (Member of the Most Excellent Order of the British Empire) ซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อเดือนมิถุนายน 2558

หนึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นเพราะ พญ.แกรนเจอร์ไม่สามารถนอนหลับเพียงพอในโรงพยาบาล เธอเผยว่า ต้องตื่นอยู่ตลอดคืนเพราะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตอาการและเปลี่ยนของเหลวโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้หลับในระหว่างวัน ซึ่งในฐานะที่เป็นแพทย์ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องคอยปลุกผู้ป่วยให้ตื่นทั้งที่ก็นอนหลับดีและหายใจเป็นปกติ

“คนในวงการแพทย์มักอ้าปากค้างเมื่อถึงคราวที่ตัวเองเจ็บป่วยและต้องรับบทบาทเป็นผู้ป่วยอย่างนี้ล่ะครับ” นพ.ครุมโฮลซ์ กล่าว  

ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเยล-นิวฮาเวนซึ่ง นพ.ครุมโฮลซ์ ปฏิบัติงานอยู่ได้ยกเลิกการสังเกตที่ไม่จำเป็นทั้งหมดระหว่างเวลา 23.00 น.ถึง 06.00 น.และในระหว่างวันจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบทุกชั่วโมงเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ช่วยพาเข้าห้องน้ำ หรืออย่างน้อยก็มา “สวัสดีค่ะ” นวัตกรรมของโรงพยาบาลยังรวมไปถึง “รางวัลดูแลผู้ป่วยดีเด่น” สำหรับบุคลากร และเก้าอี้พับซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อส่งเสริมให้แพทย์และพยาบาลนั่งข้างเตียงผู้ป่วย

ความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ในสายตาของ นพ.ไมเคิล เบนนิค ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของโรงพยาบาลเยล-นิวฮาเวน โดยเปิดเผยว่า กลุ่มโรค PHS เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ “เกือบร้อยละ 30 ของผู้ป่วยสูงอายุที่จำหน่ายกลับบ้านไม่สามารถฟื้นฟูสุขภาพกลับไปดังเดิม รวมถึงไม่สามารถอาบน้ำ แต่งตัว หรือตักอาหารรับประทานแม้อออกจากโรงพยาบาลไปแล้วถึง 6 เดือน”

ด้าน นพ.ดรูอิน เบิร์ช คุณหมอนักเขียนชี้ว่า แนวคิดเรื่องกลุ่มโรค PHS อาจกระตุกให้ NHS มองเห็นความจำเป็นในการปรับปรุงประสบการณ์ที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาล ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะบังเกิดก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าแนวคิดของนพ.ครุมโฮลซ์ จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางคลินิก ขณะเดียวกันก็ประหยัดงบประมาณในระยะยาว

“NHS ให้บริการโดยคำนึงถึงหลักประสิทธิภาพ หรืออาจพูดอีกแบบหนึ่งว่า NHS ให้บริการโดยเน้นหลักความประหยัดก็ได้ครับ” นพ.เบิร์ช กล่าว

“หลายเรื่องที่ นพ.ฮาร์ลาน ครุมโฮลซ์ พูดถึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก การรู้แค่ว่าต้องทำอย่างไรยังไม่เพียงพอ แต่ยังต้องรู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไรจึงจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปด้วยครับ”

แต่จากข้อเสนอยาวเหยียดของ นพ.ครุมโฮลซ์ ก็มีหลายข้อที่อาศัยงบประมาณเพียงน้อยนิดและโรงพยาบาลควรจะเริ่มปฏิบัติเสียตั้งแต่ตอนนี้ เช่น

“รถเข็นจะต้องไม่กระเทือนเสียงดังจนผู้ป่วยตื่นขณะรุนผ่านเตียงผู้ป่วยตอนตีสาม”

“ถังขยะจะต้องไม่กระแทกเสียงดังจนผู้ป่วยตื่นเมื่อพยาบาลทิ้งถุงมือลงไป”

“เรื่องพวกนี้เป็นของง่ายๆ ที่เราควรจะทำให้ถูกต้องเสียที และผมว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนกันครับว่า เรายังไม่ได้ทำไว้ดีพอ”

แต่ก็ไม่แน่... การแก้ไขความบกพร่องเล็กน้อยนี้อาจทำให้โรงพยาบาลไม่เพียงเยียวยาเราจากความเจ็บไข้ หากยังช่วยให้เราแกร่งขึ้นเพื่อรับมือกับศัตรูรายต่อไป   

ที่มา : BBC News