ทัศนะจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ยกผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 เกี่ยวกับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย ทั้งในประเด็นที่ว่า “ยามเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีสิทธิไหนก็ตาม มีเพียงร้อยละ 60 ที่ไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล แต่ที่เหลือร้อยละ 40 รักษาตัวเองตามสะดวก” และ “ส่วนการนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวนั้น จะมีการใช้สิทธิร้อยละ 90” ซึ่ง นพ.ธีระบอกว่า มีประเด็นน่าคิดอยู่หลายเรื่อง...
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 น่าสนใจหลายประการ...
หนึ่ง ราวร้อยละ 70 ของประชากรไทยอยู่ในระบบที่กำลังโดนดราม่าถูกรื้อ
สอง ยามเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีสิทธิไหนก็ตาม มีเพียงร้อยละ 60 ที่ไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล แต่ที่เหลือร้อยละ 40 รักษาตัวเองตามสะดวก ในขณะที่การไปรับบริการส่งเสริมสุขภาพและบริการทันตกรรมก็มีตัวเลขสถิติการใช้บริการแบบเดียวกัน ส่วนการนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวนั้น จะมีการใช้สิทธิร้อยละ 90
สาม ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายกินเหล้าร้อยละ 50 เพศหญิงกินเหล้าร้อยละ 10 โดยเฉลี่ยคือกินเหล้ากันราวร้อยละ 30
สี่ ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายสูบบุหรี่ร้อยละ 30 เพศหญิงสูบบุหรี่ร้อยละ 2 โดยเฉลี่ยคือสูบบุหรี่กันราวร้อยละ 20
ห้า ในรอบเดือนนึงก่อนสัมภาษณ์ ประชากรราวร้อยละ 30% จะมีอาการเจ็บป่วยไม่สบายทั่วไป ในขณะที่ในรอบปี จะมีอัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลราวร้อยละ 6
หก การเจ็บป่วยไม่สบายจนต้องไปโรงพยาบาลในปี พ.ศ.2556 นั้น มีจำนวนถึง 1,600,000 ครั้ง ที่เกิดจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และการถูกทำร้ายร่างกาย โดย 1 ใน 3 เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 1 ใน 3 เกิดจากเหตุภายในบ้าน ส่วนที่เหลือเกิดที่อื่น
เจ็ด ทั้งคนที่เจ็บป่วยจากการมีหรือไม่มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยแท้จริงแล้วมีเพียงร้อยละ 60 ที่ตัดสินใจไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่เหลือมักดูแลตนเอง เช่น ไปรักษาที่คลินิกใกล้บ้าน ซื้อยากินเอง หาหมอพื้นบ้าน เป็นต้น
น่าคิดอยู่หลายเรื่อง...
หนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งเหล้า บุหรี่ สภาพถนนและป้ายบอกทาง สภาพรถ พฤติกรรมการขับขี่และการใส่หมวกกันน็อค ละครตบตี ฯลฯ นั้นเป็นสิ่งที่สามารถกำจัด หรือจำกัดได้ผ่านทางนโยบายสาธารณะและการให้ความรู้ดังที่ทำมาจริงหรือไม่?
สอง หากทำได้จริง ทำไมไม่ทำ หรือไม่เห็นผลตอบสนองในทางที่ดีขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถิติการเจ็บป่วยนั้น?
สาม หากยอมรับว่ากำจัด หรือจำกัดไม่ได้ เพราะเป็นวัฒนธรรม ความเชื่อ และอุปนิสัยประชากรโดยรวม ดังนั้นนี่คือสถานะประชากรอันถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยและสมรรถนะของประเทศใช่หรือไม่?
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 192 views