ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ว่าด้วยสถานการณ์ระบบสาธารณสุขในประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ที่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ แม้จะผลิตเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา เพราะมีปัญหาเรื่องกระจาย ซึ่งเรื่องนี้ นพ.ธีระ ระบุว่า เป็นเพราะ "เกาไม่ถูกที่คัน" เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสุขภาพไม่อยากไปอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนเพราะปัญหาที่ตัวระบบที่สร้างความลำบากใจให้คนทำงาน ยังไม่นับในประเด็นที่ว่า “บุคลากรวิชาชีพสุขภาพนั้น เราไม่เคยเข้าใจหัวอกหัวใจเค้า เราไม่เคยดูแลเอาใจใส่เค้าเท่าที่ควร จึงเห็นแต่ข่าว คนน้อย งานเยอะ ทำงานไม่หยุดเกินมนุษย์์ สมดุลชีวิตส่วนตัวและครอบครัวขาดหายไป” ดังนั้น ใครล่ะครับที่จะทนอยู่ในระบบเช่นนั้นได้อย่างมีความสุข ?

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

วิสัยทัศน์การดูแลสุขภาพประชาชนประเทศสารขันธ์

"...หมอในชนบทไม่พอ...ก็ไปให้ทาง รพ.จังหวัดส่งคนมาเรียนแล้วกลับไปทำงานที่โน่น ไม่ต้องย้ายไปไหน..."

ข้อความข้างต้นเป็นสาระที่ผมได้ฟังจากวิทยุเมื่อเช้านี้ ซึ่งเป็นการรีรันทอล์คโชว์ของใครสักคนที่เรารู้จักกันดี...He who should not be named...

คงยาก ที่จะทำให้ลอร์ดเข้าใจว่า การดูแลรักษาชีวิตคนนั้นไม่ใช่การเกณฑ์ทหารมาสู้รบกับศัตรู ไม่ใช่การสร้างระบบการทำงานที่เกณฑ์คนหนุ่มมาเป็นคนรับใช้ และไม่ใช่เพียงแค่การนำคนมาจรดปากกาลงนามในสัญญาแล้วมั่นใจได้ว่าเค้าจะดูแลรักษาชีวิตคนได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ ตามที่สั่งและระบุไว้ตลอดช่วงอายุของสัญญา

ระบบการดูแลรักษาชีวิตคนนั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักหลายอย่าง ดังที่เคยเล่าให้ฟังผ่านสื่อมวลชนตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทีมบุคลากรสาขาสุขภาพที่ต้องทำงานร่วมกัน ระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ครุภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ การออกแบบและจัดระบบขั้นตอนการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับประชากรในพื้นที่ที่ดูแล การบริหารจัดการระบบ และงบประมาณรวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง

หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสารขันธ์พยายามผลักดันให้ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพแทบทุกสาขาให้มากขึ้น และสร้างระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อกระจายบุคลากรเหล่านั้นไปยังที่ที่มีตัวเลขว่า ขาดแคลน รวมถึงกลยุทธ์ข้างต้นที่ลอร์ดได้กล่าวไว้ข้างต้น

แต่ปัญหาการขาดแคลนก็ไม่ได้ทุเลาลง แม้ตัวเลขโดยรวมของจำนวนบุคลากรจะเพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังก็ยังคงไม่สามารถได้รับการดูแลรักษาชีวิตได้อย่างที่หวังไว้

ขำหนักยิ่งขึ้น เมื่อได้ข่าวเมื่อวานนี้ว่า มีการคาดประมาณว่า จำนวนหมอฟันที่ผลิตออกมาจะเกินกรอบอัตรากำลังของระบบสุขภาพที่มีอยู่ภายใน 2 ปีข้างหน้า คนอ่านข่าวนี้ย่อมมโนไปต่างๆ นานาว่า สาระดังกล่าวแปลว่าอย่างไรกันแน่ ระหว่างจำนวนหมอฟันโดยรวมเกินความต้องการของประเทศ หรือกรอบอัตรากำลังที่จัดสรรไว้ในระบบนั้นไม่เหมาะสมกับความต้องการของ ประเทศ หรือจะมีคำแปลเป็นอื่นได้อีก ในเมื่อเวลาเราจะไปรับการดูแลรักษาเรื่องฟัน คิวก็ยังยาวมากอยู่ดี จนต้องหนีไปตรวจที่คลินิกแทน

ครับ...ท่านลอร์ด...ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผมกำลังจะชี้ให้เห็นว่า ระบบการดูแลรักษาชีวิตคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอ หมอฟัน หมอยา พยาบาล ฯลฯ นั้น รากเหง้าของปัญหาคือ "การเกาไม่ถูกที่คัน"

บุคลากรวิชาชีพสุขภาพนั้น เราไม่เคยเข้าใจหัวอกหัวใจเค้า เราไม่เคยดูแลเอาใจใส่เค้าเท่าที่ควร จึงเห็นแต่ข่าว คนน้อย งานเยอะ ทำงานไม่หยุดเกินมนุษย์์ สมดุลชีวิตส่วนตัวและครอบครัวขาดหายไป

ยังไม่นับเรื่องการที่ระบบที่เค้าอยู่นั้นมีปัญหาถาโถมที่สร้างความลำบากใจให้คนทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นการโหมโรงคุณภาพงานตามประเทศตะวันตกแล้วเอาภาระด้านกรอกข้อมูล และเอกสารต่างๆ มาบั่นทอนชีวิตจิตใจมากขึ้นเป็นเท่าตัว หรือแม้แต่การแต่งตั้งโยกย้ายแบบใช้เส้นสายลายเสียงเป็นเนืองๆ

แถมด้วยการที่ฝ่ายนโยบายไปจัดการเรื่องวงจรงบประมาณต่างๆ แล้วปรับเปลี่ยนระบบการทำงานไปในลักษณะที่ยิ่งเปลี่ยนยิ่งยุ่ง ทำชีวิตคนทำงานให้ยากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

ใครล่ะครับที่จะทนอยู่ในระบบเช่นนั้นได้อย่างมีความสุข ?

บุคลากรอันทรงคุณค่าเหล่านี้ย่อมคิดเป็น พอรู้เช่นเห็นแจ้ง จึงต้องตัดสินใจในจุดใดจุดหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งว่า ฉันจะอยู่แบบนี้ต่อไปดี หรือฉันจะมีทางเลือกอื่นที่จะทำให้มีสมดุลชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไหม แม้ฉันจะตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่ปวารณาตัวเข้ามาดูแลรักษาชีวิตคน แต่ชีวิตฉันและครอบครัวก็ต้องการคนดูแลเช่นกันนะ

ลำบากกายนั้นไม่มีปัญหา เพราะเราอึดอยู่แล้ว แต่ลำบากใจนั้นอยู่ยากเหลือเกิน ยิ่งถ้ากระทบต่อคนรอบข้างตัวฉันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขาดความอบอุ่นของครอบครัว ความเครียดของคนรอบตัวฉัน ยามที่ฉันต้องไปผจญความยากลำบากในการทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือแม้แต่ไปทำงานในที่ที่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และทีมงานขาดแคลน อันเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหรือผลแทรกซ้อนในการรักษาคนไข้จนนำมาซึ่งการฟ้อง ร้อง แถมระบบที่มีก็ไม่ได้จริงจังในการพัฒนา และปล่อยให้ฉันสู้อย่างเดียวดาย ฉันยิ่งลำบากใจมากขึ้นไปอีก

นั่นแหละครับคือปัญหารากเหง้า ที่ส่งผลให้เกิดภาพที่เราเห็นว่า ผลิตออกมาเท่าไหร่ ก็ไม่เห็นกระจายไปยังที่ขาดแคลนเสียที

ปัจจัยเสริมอื่นที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายผิดทิศผิดทางของประเทศสารขันธ์คือ การสั่งให้ผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทรัพยากรในระบบที่ผลิตยังคงเดิม ทั้งในแง่จำนวนอาจารย์ ห้องเรียน รวมไปถึงจำนวนคนไข้และลักษณะของคนไข้ที่จะบ่มเพาะนิสิตนักศึกษายังคงเป็นไปในลักษณะขาดแคลน ยิ่งทำให้น้องๆ ที่จะออกไปผจญโลกกว้างยิ่งไม่มั่นใจ และลำบากใจหนักเข้าไปอีกเป็นเท่าตัว

อีกกี่ทศวรรษ ปัญหานี้ก็ไม่มีทางดีขึ้น การดูแลรักษาชีวิตคนมีแนวโน้มจะเกิดปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่เราไม่คิดใหม่ทำใหม่

จะทำอย่างไรล่ะ?

หนึ่ง ประชาชน...เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ไม่เคยได้รับการชวนมาช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศอย่างจริงจัง เพราะคนพัฒนาระบบมักประเมินตนเองว่าเป็นคุณพ่อรู้ดี จับงานมานาน จนติดกับดักความคิดที่อยู่ในกรอบ แต่หากเราเข้าใจความต้องการของประชาชนว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การพัฒนาระบบก็ควรที่จะได้รับการจัดการไปในลักษณะที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และพัฒนาเพื่อทั้งปัจจุบันและอนาคต

สอง คนสุขภาพ...ดูแลเค้าให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม แบบที่เรามักใช้คำหรูๆ ว่า อยากให้ดูแบบองค์รวมนั่นแหละครับ และไม่ใช่แค่ "ดู" หรือ "แลดู" แต่เน้นว่า "ดูแลเอาใจใส่"

เพราะเราทุกคนควรจะรู้ว่ากระบวนการดูแลรักษาชีวิตคนนั้นจะมีประสิทธิภาพได้ วิชาชีพสุขภาพล้วนต้องทุ่มเทกาย เวลา ปัญญา และจิตใจ ที่จะช่วยให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นให้หายดี

หากพื้นที่ใดที่ขาดแคลนหมอ และบุคลากรต่างๆ นั่นย่อมแปลว่าต้องมีสาเหตุที่ทำให้คนอยู่ไม่ได้ การจะจับเอาคนไปอยู่ในพื้นที่นั้น ไม่ใช่การแก้ไขง่ายๆ แบบเอาคนพื้นที่มาเรียนแล้วไปอยู่ และ/หรือ ผูกเค้ากับสัญญาการทำงาน มิฉะนั้นจะจับได้แต่กาย แต่ไม่สามารถ "จับใจ" เค้าได้เลย

ผู้บริหารประเทศจึงควรพัฒนาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้เอื้อต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตแบบครบวงจร ทั้งเรื่องการกิน การคมนาคมและจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือบริการที่จำเป็น ที่อยู่อาศัย การนอนหลับพักผ่อนหย่อนใจ การสื่อสาร การทำงาน และการเรียนรู้

แค่ 2 ข้อนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพนั้น แทบไม่ค่อยได้แตะ และยากในการที่จะดำเนินการ

เราจึงเห็นตลอดมาว่า งบการสร้างถนนหนทางมักรับผิดชอบโดยกระทรวงคมนาคม และนักการเมืองโดยอิงกับเรื่องฐานคะแนนเสียงในพื้นที่เป็นหลัก ยากนักที่การสร้างถนนหนทางจะได้รับการวางแผนโดยบูรณาการกับระบบการดูแลรักษาพยาบาล

ในขณะที่ฝ่ายการแพทย์ฉุกเฉินก็เคยคิด แต่คิดในกรอบที่ตัวเองถนัดหรือทำได้เอง เช่น การวางแผนจัดหารถฉุกเฉินประจำตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย ทั้งๆ ที่คงจะดีมาก หากทั้ง 2 เรื่องทั้งการทำถนนหนทาง และจัดหารถและวัสดุอุปกรณ์ มาทำร่วมกันพร้อมๆ กัน ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาโรงพยาบาลระดับต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ

ในความเป็นจริงแล้ว ห้วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีการปรับระบบบริการใหม่ไปในลักษณะเขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีปรัชญาหลักที่จะทำให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ในแต่ละเขตพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นหากฟังผมสักหน่อย ยอมละลาย comfort zone ที่แต่ละหน่วยงานนั้นคุ้นเคย แล้วหันมาปรับนโยบายต่างๆ ให้มองคนอย่างครบถ้วนทั้งกาย ใจ สังคม ทั้งต่อประชาชน และคนทำงานในระบบ ไปจนถึงยอมรับขีดจำกัดของระบบการผลิตบุคลากรสุขภาพดังที่กล่าวมา ก็จะพบว่านโยบายที่เคยดำเนินมานั้น ควรจะได้รับการปรับเปลี่ยน

และแน่นอนว่า ปรับเปลี่ยนโดยตัวหน่วยงานเองนั้นยากเหลือเกิน เพราะจะไม่มีใครยอมใครแน่ๆ

จะทำได้ต้องผ่าน 2 กระบวนการวิกฤติ ได้แก่ การไปเล่าให้ลอร์ดฟังจนเข้าใจว่าสถานการณ์จริงคือแบบที่กล่าวมาทั้งหมด และให้ลอร์ดมาดำเนินการสั่งการเพื่อให้เกิดการปรับนโยบายและระบบการทำงานระหว่างหน่วยงานด้วยตัวเอง

นั่นแหละครับ จึงจะเป็นการกรุยทางใหม่สำหรับแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว

และที่เล่ามาทั้งหมดคือ เนื้อเรื่องที่ผมมโนขึ้น โดยหวังว่าจะได้รับการนำส่งไปให้ JK Rowling พิจารณาบรรจุเป็นเนื้อเรื่องของแฮร์รี่พอตเตอร์ ภาคถัดไป...

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย