แพทยสภาเผย คดีฟ้องแพทย์ทางอาญาและทางแพ่งเพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมาแก้ปัญหาเบื้องต้นขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจ หากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแพทย์ให้ขอความเห็นจากแพทยภาก่อนว่าทำการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ก่อนทำสำนวนสั่งฟ้อง
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2558 เวลา 9.30 น. ณ อาคารสวนกีฬา กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาร่วมกับสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) จัดสัมมนา “ถอดบทเรียนคดีทางการแพทย์”
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีฟ้องแพทย์ทางอาญาและทางแพ่งเพิ่มสูงขึ้น บางคดีตัดสินแพทย์ถูกจำคุกถึง 4 ปี ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาในวงการแพทย์ ทำลายสัมพันธภาพที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เกิดความกดดันแก่แพทย์ผู้รักษา สร้างความหวาดระแวง หวาดกลัว และวิตกจริตในหมู่แพทย์ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ การรักษา เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบบริการทางการแพทย์เชิงป้องกันตนเอง (defensive medicine) มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรังสีวิทยาเกินความจำเป็น ภาระงบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้น เกิดการส่งต่อผู้ป่วยที่เคยตรวจรักษาหรือผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปมากขึ้น จนเป็นภาระงานที่หนักมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย
แพทยสภาเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ดังนั้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแพทย์ในการดูรักษาผู้ป่วย จึงได้จัดประชุมสัมมนาให้แพทย์ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันหรือยุติการฟ้องแพทย์ในคดีอาญาและแพ่ง และเพื่อให้แพทย์มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมในคดีทางการแพทย์ โดยได้รับความสนใจจากแพทย์ ทั่วประเทศส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม 120 ท่าน
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ความเสี่ยงทางอาญาของแพทย์มีอยู่ไม่น้อย ดังนั้นนอกจากจะต้องมีความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว แพทย์ยังต้องมีความรู้ในทางกฎหมายพอสมควร เพื่อช่วยเหลือตนเองได้หากถูกดำเนินคดี จากบทเรียนในคดีทางการแพทย์ทำให้แพทยสภา ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือไปยังพนักงานสอบสวนควรมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบโดยมีหลักวิชาทางการแพทย์รองรับ เพื่อความเป็นธรรมว่า กรณีมีผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแพทย์จากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้มีหนังสือขอความเห็นไปยังนายกแพทยสภาก่อนว่า แพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ และแพทย์ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ของแพทย์หรือไม่ และนำความเห็นจากแพทยสภาไปเป็นข้อมูลในการสอบสวน เพื่อพิจารณาว่าจะทำสำนวนสั่งฟ้องแพทย์หรือไม่
- 244 views