‘นพ.ธีระ’ อาจารย์แพทย์จุฬาฯ เตือนแพทยสภา ออกหลักสูตรอบรมศัลยกรรมเสริมความงาม กระทบบรรทัดฐานวิชาชีพแพทย์ จากรักษาเพื่อคนไข้หายป่วย เป็นการสนับสนุนบริการแพทย์เชิงพาณิชย์ ขัดแย้งบทบาทหน้าที่สภาวิชาชีพแพทย์ต้องปกป้องประชาชน แถมส่งผลให้แพทย์ไหลออกจากระบบเพิ่มขึ้น แนะหากต้องการลดปัญหาศัลยกรรมความงามต้องดูสาเหตุและแก้ให้ตรงจุด
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีที่กลุ่มแพทย์จำนวน 840 คน ยื่นเรื่องต่อแพทยสภาขอให้ออกหลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามเป็นรายหัตถการ ในแง่หลักการต้องดูว่าสภาวิชาชีพนั้น บทบาทและหน้าที่คืออะไร ซึ่งหากดูคำจำกัดความสากล สภาวิชาชีพไม่แต่เฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่รวมทุกวิชาชีพอื่นๆ ด้วย ต่างมีหลักการตรงกันคือ เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นนโยบายต่างๆ ที่ออกโดยสภาวิชาชีพต้องอธิบายให้ได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร ซึ่งสภาวิชาชีพมีความแตกต่างจากองค์กรวิชาชีพอย่างสมาคมที่มีบทบาทปกป้องวิชาชีพเป็นที่ตั้ง ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันชัดเจน
ทั้งนี้แม้ว่าการยื่นเรื่องขอให้แพทยสภาพิจารณาออกหลักสูตรอบรมศัลยแพทย์เสริมความงามระยะสั้น แม้ว่าจะเป็นไปตามระเบียบแพทยสภาที่สมาชิกแพทย์ 50 คนสามารถเข้าชื่อเพื่อขอให้แพทยสภาพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่แพทยสภาจำเป็นต้องดูความเหมาะสมด้วย แม้ว่าในเรื่องนี้ผู้ที่ยื่นจะหยิบยก 2 ประเด็นที่เป็นเหตุผลคือ จำนวนผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเสริมความงามมีมากขึ้น และปัญหาผลแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรมความงาม ซึ่งในฐานะที่เป็นอาจารย์แพทย์และประชาชนมองว่า แพทยสภาจำเป็นต้องใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ดี เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เพราะการทำนโยบายสาธารณะนั้นจำเป็นต้องดูว่าผิดหลักการ 4 ข้อข้อหรือไม่ คือ 1.คุณธรรม 2.จริยธรรม 3.ศีลธรรม และ 4.บรรทัดฐานสังคม โดยเฉพาะข้อหลังนี้ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวมาก
“การเรียนแพทย์หลักการสำคัญเพื่อรักษาความเจ็บป่วยของคนไข้ให้กลับสู่ปกติ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานสำคัญของวิชาชีพแพทย์ แต่หากมีนโยบายใดๆ ที่ออกมาและทำให้เกิดการเปลี่ยนบรรทัดฐานนี้ต้องพึงระวัง อย่างเช่นการเสนอให้แพทยสภาออกหลักสูตรอบรมศัลยกรรมเสริมความงามที่อาจทำให้คนมองวิชาชีพแพทย์ โดยเฉพาะสภาวิชาชีพที่ไปมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจความงามมากขึ้นได้ กลายเป็นแพทย์พาณิชย์ ตรงนี้แพทยสภาต้องใคร่ครวญให้ดีถึงผลกระทบนี้”
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ระบุว่ามีปัญหาผลแทรกซ้อนจากการศัลยกรรมความงามมากนั้น หากดูข้อมูลวิชาการจะเห็นได้ว่ายังไม่มีรายงานที่ชัดเจนเพียงพอ และต้องดูสาเหตุที่แท้จริงของแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น หากเกิดจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงความไม่พร้อมในการรับมือต่อเหตุการณ์ความเสี่ยง อย่างคนไข้เกิดการแพ้ยาจำเป็นต้องกู้ชีพ การออกหลักสูตรอบรมเสริมความงามนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ เช่นเดียวกับกรณีที่มีผู้แอบอ้างวิชาชีพแพทย์และทำศัลยกรรมความงาม การจัดทำหลักสูตรนี้ก็ไม่ตอบโจทย์เช่นกัน
แต่หากบอกว่าการฉีดฟิลเลอร์มีหลายกระบวนการทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย จำเป็นต้องเปิดอบรบหลักสูตรนั้น แม้ว่าการเปิดสอนจะตอบโจทย์ได้ แต่ต้องไม่ใช่การอบรมระยะสั้น เพราะผู้ที่จะทำศัลยกรรมความงามได้นั้นต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับการเรียนการสอนมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า ศัลยกรรมตกแต่งหรือ plastic surgery นั้น ต้องเรียนยาวนาน ตั้งแต่เรียนหมอมา 6 ปี จากนั้นต่อด้วยศัลยกรรมทั่วไปอีก 3 ปี และต่อยอดด้านศัลยกรรมตกแต่งอีก 2 ปี
ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแทรกซ้อน แพทย์เหล่านี้จะแก้ไขปัญหาได้ดี ดังนั้นการเปิดอบรมระยะสั้นนี้จึงไม่ตอบโจทย์อีกเช่นกัน
“การเปิดอบหลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามที่เป็นหลักสูตรระยะสั้นโดยแพทยสภา จะเห็นได้ว่าอาจส่งผลกระทบตามมาได้ ดังนั้นแพทยสภาจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีในเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงบทบาทหลักของการเป็นสภาวิชาชีพ การจะคลอดนโยบายใดๆ ออกมานอกจากมีข้อมูลลุ่มลึก เพียงพอ และรอบด้านแล้ว ยังต้องตอบความกระจ่างให้กับสังคมได้” นพ.ธีระ กล่าวและว่า ขณะเดียวกันขอฝากไปยังประชาชนในฐานะผู้มีบทบาทร่วม ต้องตระหนักถึงบทบาทตนเองโดยรับผิดชอบหน้าที่ร่วมกับแพทย์เช่นกัน ซึ่งต้องติดตามและช่วยกันคิดว่า หากนโยบายนี้ถูกเข็นออกมาจะทำอย่างไร ทั้งนี้เพื่อทำให้ระบบเกิดความเข้มแข็ง
ต่อข้อซักถามว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไรหากแพทยสภาออกหลักสูตรอบรมศัลยกรรมเสริมความงามตามที่มีการเสนอให้พิจารณา นพ.ธีระ กล่าวว่า ในแง่ภาพลักษณ์วิชาชีพแพทย์คงเปลี่ยนไป และอาจทำให้เกิดธุรกิจเสริมความงามมากขึ้น นอกจากนี้ระบบสุขภาพอาจเจอกับปัญหากำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ได้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นฝันร้าย เพราะแพทย์เองก็เป็นคนธรรมดา หากการให้แพทย์คงอยู่ในระบบยังไม่ดีพอ แพทย์ที่อยู่ในระบบก็อาจไหลออก โดยมองเห็นลู่ทางจากการเปิดอบรมและเลือกไปทำงานด้านศัลยกรรมความงามแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ แม้ว่าภาครัฐจะผลิตกำลังคนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เหล่านี้เป็นผลกระทบที่มองเห็นและยังมีผลกระทบอื่นๆ ที่ยังอาจตามมาได้
“การอบรมหลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามนี้ หากจะจัดอบรมก็ทำไปได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนำแพทยสภามาเป็นตรายางรับรอง ซึ่งการจัดอบรมในต่างประเทศก็ไม่นำสภาวิชาชีพมาเปิดหลักสูตรอบรมเอง เพราะอาจเกิดสุ่มเสี่ยงจนเกิดผลกระทบได้ ดังนั้นเรื่องนี้แพทยสภาต้องพิจารณาโดยดูข้อมูลอย่างรอบด้าน” นพ.ธีระ กล่าว
- 20 views