นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : จากแนวคิดเพื่อการเข้าถึงทันตกรรมของทุกชนชั้น ทันตแพทย์เชียงใหม่พัฒนารากฟันเทียมขนาดเล็กแบบถอดได้ในระดับราคาที่คนไทยจ่ายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ ตลอดจนสร้างงานให้ชุมชนใกล้เคียงโรงงาน คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติปี 2558 ด้านสังคม
ส่วนผลงานรางวัลชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ "เวลโลกราฟ" นาฬิกาสุขภาพ จากบริษัท เวลโลกราฟ จำกัด วัดชีพจรได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจจับการเต้นของหัวใจจากการสวมใส่ที่ข้อมือโดยมีเทคนิคการกำจัดสัญญาณรบกวนจึงมีความแม่นยำใกล้เคียงกับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีการส่งออกเพื่อจำหน่ายทั่วโลก เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไทย
รากฟันเทียมเพื่อคนไทย
รศ.ทพ.ปฐวี คงขุนเทียน นักวิชาการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้" เป็นการพัฒนารากฟันเทียมขนาดเล็กเพียง 2.75-3 มิลลิเมตร ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนหัวที่ยึดกับฟันปลอม และส่วนลำตัวที่ยึดติดกับกระดูกกราม ซึ่งการใช้งานนั้น จะเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อใส่ส่วนลำตัวที่ยึดกระดูกกราม ทำให้คนไข้เจ็บตัวน้อยลง การฟื้นตัวเร็วขึ้น ไม่ต้องรอนาน
รศ.ทพ.ปฐวี คงขุนเทียน
เมื่อเทียบกับฟันปลอมแบบตะขอเกี่ยว คนไข้มักไม่นิยมเนื่องจากเจ็บ หลุด เคลื่อนง่าย ไม่เสถียร หรือหากเป็นรากฟันทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เวลานานในการรักษา เนื่องจากต้องผ่าเปิดแผลเพื่อใส่รากเทียม เจาะและเย็บปิด ก่อนรอเวลาอีกราว 3 เดือน เมื่อแผลหายดีแล้วจึงจะใส่ฟันเทียมได้
"ขณะที่รากเทียมขนาดเล็กของเรานั้น สามารถผ่าเปิดแผลเล็ก เนื้อเยื่อเสียหายไม่มาก คนไข้สามารถทำการใส่รากฟันเทียมแล้วเสร็จในครั้งเดียว แผลเล็กหายเร็ว ยึดกับกระดูกได้ดี เมื่อสึกหรอจากการใส่เข้าออกฟันปลอมแล้ว เปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งเหมือนเดิม ที่สำคัญ ราคาถูกลงในระดับที่คนไทยสามารถจ่ายได้" นักวิจัยกล่าว
จากรากฟันเทียมนำเข้าราคาสูง ซึ่งต้องรักษาครั้งละ 1 ซี่ ราคาไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท มูลค่าตลาดนำเข้ารากฟันเทียมสูงถึง 400 ล้านบาทต่อปี รศ.ปฐวีสามารถพัฒนารากเทียมในราคาหลักพันที่คนทั่วไปจ่ายได้ และสามารถช่วยยึดฟันเทียมทั้งแบบซี่และแบบหลายซี่ ช่วยให้โอกาสการเข้าถึงของผู้ป่วย ทันตกรรมมีมากขึ้น รากฟันเทียมนวัตกรรมไทยนี้ ได้ส่งต่อให้กับบริษัท พีดับบลิว พลัส จำกัด ทำการตลาด โดยเป็นแบรนด์ไทยรายแรกและรายเดียวในไทย รวมถึงในเอเชียที่มีมาตรฐานการผลิต ISO 13485 และผ่านการรับรองมาตรฐานของสหภาพยุโรป (CE mark)
เปิดตลาดนวัตกรรมไทยไปนอก
นายวินัย วีรวัฒน์ปรัชญา กรรมการบริหารบริษัท พีดับบลิว พลัส จำกัด กล่าวว่า สังคมไทยรวมถึงสังคมโลกต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีสังคมอุดมคนชรา ฟันเป็นปัจจัยหนึ่งที่คนชราต้องให้ความสำคัญ เพื่อการรับประทานอาหารที่ต้องการ ลดปัญหาท้องอืด หรือคุณภาพชีวิตที่อาจแย่ลงเมื่อไม่สามารถเคี้ยวหรือกินอาหารร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ รากฟันเทียมจึงเข้ามาตอบโจทย์ โดยเฉพาะเมื่อราคาเป็นที่รับได้ของคนทั่วๆ ไป นวัตกรรมนี้เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษา ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดการเดินทางไปยังโรงพยาบาล จากเดิมที่ต้องไปพบแพทย์ 8-10 ครั้ง เหลือเพียง 1-2 ครั้ง และยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุที่ส่วนมากมีปัญหาฟันปลอมหลุดหลวมเพราะขาดการยึดเกาะ ทางบริษัทเริ่มทำตลาดสำหรับรากเทียมนี้ในช่วงต้นปี 2558 โดยเสนอเข้าไปในหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สถาบันทันตกรรมต่างๆ เมื่อราคาและคุณภาพตอบโจทย์ตลาดได้ ยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกจึงน่าสนใจ
ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายรากฟันเทียมธรรมดาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีนวัตกรรมนี้เข้ามา ช่วงปีแรก ยอดขายเมื่อเทียบกับรากเทียมธรรมดาจะเป็น 10 : 90 แต่ภายใน 2 ปี ยอดขายจะเปลี่ยนเป็น 90 : 10 และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางทันตกรรมพื้นฐานในที่สุด
นอกจากนี้ยังได้เปิดตลาดในกัมพูชาแล้ว และ ในปี 2559 จะเปิดตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่าน การสัมมนานำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ จากนั้นก็ขยายไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป "ปัจจุบันเรามีตลาดในเยอรมนีผ่านดิสทริบิวเตอร์ที่เห็นตั้งแต่เรายื่นขอมาตรฐานของสหภาพยุโรปและให้ความสนใจทำตลาด แต่ในช่วงแรกตั้งใจจะทำตลาดอาเซียนให้แข็งแกร่งก่อน" ผู้บริหารพีดับบลิวพลัส กล่าว
- 231 views