นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สปส.สยบข่าวลือเก็บเงินสมทบเพิ่มจากผู้ประกันตน 20 ต.ค.นี้ หลังถูกวิจารณ์สนั่นโลกออนไลน์ ระบุเป็นแค่หนึ่งในแนวทางที่กำลังศึกษาการหาเงินเพิ่มเข้ากองทุนฯ คาดยังใช้เวลาอีกนาน เผยหลังเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ ต้องใช้เงินเพิ่มถึงปีละ 4.5 พันล้าน
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวแพร่หลายในโลกออนไลน์ ระบุว่าสำนักงานประกันสังคมเตรียมที่จะขยายฐานการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างในอัตราฝ่ายละ 5 % ของฐานเงินเดือน โดยจะเริ่มเก็บหลังจากวันที่ 20 ต.ค.นี้ ว่าขอยืนยันเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในหลายแนวทางที่ สปส.อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเตรียมการเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมเท่านั้น
ในขณะนี้เรื่องนี้ยังไม่มีผลสรุปการศึกษาและยังไม่มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ เช่น เงินชดเชยกรณีว่างงาน เงินสงเคราะห์บุตร โดยจากการประเมินของสำนักงานประกันสังคม คาดการณ์ว่าต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี
"ผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ในเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 1,650 บาท จะเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 83 บาทต่อเดือน ขณะที่ ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน จะเก็บเงินสมทบเดือนละ 750 บาทต่อเดือนโดยอัตรานี้ใช้มาเป็นเวลา 18 ปีแล้ว
หากขยายฐานเงินเดือนในการเก็บเงินสมทบเป็นผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนกว่า 3,000 บาทจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มเป็นกว่า 100 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้ที่มีเงินเดือน 20,000 บาทก็จัดเก็บเงินสมทบอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินสมทบที่ไม่ได้สูงขึ้นมาก แต่สิทธิประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ข้อสรุป" ประธานบอร์ด สปส.กล่าว
ม.ล.ปุณฑริก ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นแต่ผู้ประกันตนกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควรว่า อยากให้ผู้ประกันตนมองในแง่ของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างผู้ประกันตน ซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่ก็มาจากการสำรวจความต้องการของผู้ประกันตน
โดยสิทธิประโยชน์ในกรณีเจ็บป่วยนั้นถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากเมื่อเข้ารักษาพยาบาล ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง
ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ข่าวการปรับฐานการเก็บเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ได้ถูกเผยแพร่และส่งต่อกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเหตุที่ระบุว่ามีการเก็บเงินเพิ่มในวันที่ 20 ต.ค.ตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นเพราะในวันดังกล่าว พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2558 โดยให้มีผลใน 120 วัน
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้น ครอบคลุมทั้งกรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และที่สำคัญคือ มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสและความมีมาตรฐานจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จะได้รับเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยที่ปัจจุบันไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ ส่วนผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตาย จะได้รับเพิ่มสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ
ขณะที่ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มี.ค.2538 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายความคุ้มครองผู้ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือ กลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มได้รับตลอดชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่าเทียมกัน
กรณีคลอดบุตรผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้งๆ ละ 13,000 บาท รวมกับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาทต่อคน
กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น
สำหรับเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ถ้าจ่ายเงินสมทบมาอย่างน้อย 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือน ให้จ่าย 50% ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน จากเดิมจ่ายแค่ 5 เดือน
อย่างไรก็ดีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการตำหนิสำนักงานประกันสังคม ถึงการให้บริการที่มักไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าคนไข้ทั่วไป ต้องรอการตรวจเป็นเวลานาน รวมไปถึงคุณภาพการรักษาและการจ่ายยา ขณะที่บางรายระบุว่าหากเพิ่มเงินแล้วขอให้มีการดูแลรักษาที่ดี อย่าให้มีสภาพเหมือนคนไข้อนาถา
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ตุลาคม 2558
- 7 views